วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

World Design Capital Seoul 2010

Design to Improve Life
Text by Weerawouth Hransombat / Feed Me
เอาล่ะ แม้จะเข้าปี ค.ศ. 2011 แล้วแต่ประโยคสั้นๆ “It Takes HEART” ที่เป็นสโลแกนของ ‘World Design Capital Seoul 2010’ ก็ยังคงเป็น case study ที่ยังคงน่าสนใจอยู่ ผมก็เลยจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งจากสโลแกนคงพอจะบอกให้เรารู้ได้ว่าเมืองแห่งนี้สร้างด้วยหัวใจ ด้วยดีไซน์ที่เตรียมพร้อมเพื่อการก้าวสู่ความเป็น World Design Capital™ (WDC) จัดตั้งขึ้นโดยสมาคมออกแบบอุตสาหกรรมนานาชาติ (The International Council of Societies of Industrial Design: Icsid) ชื่อที่แต่งตั้งขึ้นทุกๆ 2 ปี จากการคัดเลือกภายใต้การมองหาเมืองที่บรรลุผลสำเร็จด้วยงานออกแบบ และการอุทิศตนในการสร้างสรรค์งานออกแบบที่มีผลต่อสังคม วัฒธรรม และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในปี 2010 นี้มีผู้ท้าชิงอีก 2 เมืองคือ เมืองแห่งไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ (City of Eindhoven, The Netherlands) และ เมืองแห่งเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ (City of Helsinki, Finland) ซึ่งทั้งสองเมืองก็ใช่ย่อยในด้านการออกแบบ แต่ท้ายที่สุดกรุงโซลก็กระโจนมารับตำแหน่งนี้ในที่สุด ทำไมจึงต้องเป็นโซล? โซลมีอะไรถึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบในปีนี้?

It Takes HEART
ก่อนหน้ากรุงโซลนั้น เมืองแห่งโตริโน ประเทศอิตาลี (City of Torino, Italy) ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบมาก่อน (2008 2009) และไม่ผิดหรอกที่เกาหลีใต้จะทะเยอะทะยานและฝันอยากจะขับเคลื่อนโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ก็จงฝันกันต่อไป หากไม่ลงมือทำฝันก็จะสลายในที่สุด แต่เกาหลีใต้ไม่ได้ทำแค่ฝัน พวกเขาลงมือทำอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลฯ ได้วางรากฐานนี้มาตั้งแต่ปี 2006 จากประโยคที่ว่า งานออกแบบคือทุกสิ่งทุกอย่าง คำกล่าวนี้เป็นของนายกเทศมลตรีกรุงโซลนามโฮ เซ ฮุน (Oh Se Hoon) ด้วยวิสัยทัศน์ของโฮที่คิดว่า งานออกแบบจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนชาวเกาหลีได้แน่นอน

ศักยภาพนี้แสดงให้เห็นผ่านโครงการต่างๆ ที่วางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยโฮวางได้วางรากฐานเพื่อเตรียมกรุงโซลให้เป็นศูนย์กลางด้านงานออกแบบอย่างไม่รอช้า เขาได้จัดตั้งแผนกออกแบบนำโดยรองนายกเทศมนตรีและจัดงานประกวดเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของเมือง จัดอบรมสัมนาสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมตัวเร่งความเร็วครั้งใหญ่ในงาน Seoul Design Olympiad ซึ่งนำเอาของดีทางด้านงานออกแบบแดนโสมมาอวดสายตาชาวโลกได้อย่างไม่เกรงใจเมืองคู่แข่ง เรียกว่าใครดีใครได้ เกมง่ายๆ ที่เล่นยากเหลือเกิน แต่โซลก็เล่นไปแล้ว พวกเขานำนักออกแบบชั้นนำมาแสดงผลงาน รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับงานออกแบบเพื่ออวดชาวโลก

อีกชื่อหนึ่งที่เข้ามาเป็นส่วนผลักดันกรุงโซลได้ไม่น้อยกับนามของ ‘Zaha Hadid’ สถาปนิกระดับโลกที่เข้ามาออกแบบ ทงแดมุน ดีไซน์ พาร์ค (Dongdaemun Design Park) ในงบประมาณกว่า 98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอื่นๆ อีกกับวิสัยทัศน์ของโซลที่จะเป็นเมืองในฝันด้วยงานดีไซน์ แน่นอน ดีไซน์ในมุมมองของรัฐบาลฯ จะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตพลเมือง เสริมสร้างรากฐานวัฒนธรรม ปรับปรุงบริบทแวดล้อมของเมือง สร้างสรรค์ชุมชนให้เกิดการแบ่งบันทางสังคม โดยอาศัยพลเมืองของเกาหลีใต้เป็นตัวขับเคลื่อน 

   
_Universal Design City
กับเมืองที่เป็นของทุกคน โดยผลเมืองชาวเกาหลีใต้ทุกผู้ทุกนาม ที่จะได้สนุกในการใช้ชีวิตไปกับเมืองของพวกเขา นั่นรวมไปถึงการใส่อกใส่ใจกับความยั่งยืน ความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเป็นเมืองที่มีความงาม มีคุณประโยชน์ สภาพแวดล้อมดี และสังคมแห่งการออกแบบที่จะไม่ละทิ้งผู้คนพลเมืองเกาหลีใต้

_Ubiquitous Design City
ดีไซน์ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งของมุมเมือง นั่นไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ กรุงโซลก็จะเชื่อมโยงกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะนำเมืองมุ่งสู่วันข้างหน้า และเตรียมการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการจราจรขนส่ง ปัญหาการว่างงาน เมืองนี้จะตอบปัญหาของพลเมืองไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ สรุปคร่าวกับ 6 ข้อแม้ คือไม่ว่าเวลาไหน, ที่ใด, โครงข่ายไหน, วิธีการอะไร, ปัญหาไหน และการบริการแบบใด เมืองแห่งนี้จะมีคำตอบให้คุณในคีย์เวิร์ด U-Care, U-Fun, U-Green, U-Transport, U-Business และ U-Governance    

_By U
ที่สำคัญเมืองแห่งนี้ยังสร้างสรรค์ด้วยความเป็นพลเมืองอย่างชาวเกาหลีใต้ โดยเน้นให้พลเมืองทุกผู้ทุกนามได้มีสิทธิ์มีเสียงในการสร้างเมืองของพวกเขา เหมือนคำไทยๆ ที่ว่า ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน นั่นเอง กรุงโซลก็เช่นกัน ในการจะพัฒนาแบบก้าวกระโดดเช่นนี้นั้น ยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับฉันทามติจากพลเมือง ใช่ว่าภาพที่เห็นจะเป็นเพียงแค่ฉากบังตาเพื่อให้ชาวโลกอึ้งทึ่งเสียวกันไปเท่านั้น แต่ฉากนั้นพลเมืองเกาหลีจะต้องอิ่มเอมเต็มใจไปกับมันด้วยเช่นกัน นี่คือ อนาคตของกรุงโซล

ภาพที่เราเห็นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของกรุงโซลเมืองหลวงแห่งการออกแบบนี้ สรุปเป็นขั้นบันไดมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2006 ส่วนภาพชัดๆ จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างในปี 2008 ซึ่งมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ความเป็น WDC รวมไปถึงการริเริ่มโปรเจ็ตค์ต่างๆ นานาที่จะขับเคลื่อนเมืองนี้สู่ศูนย์กลางงานออกแบบ จนในปี 2009 แผนการในการเตรียมอีเว้นท์ต่างๆ ก็เผยให้เห็น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงการออกแบบสู่สากล ดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามาเกาหลีใต้แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย และไม่ต้องรีรออีกให้เสียเวลากับปี 2010 ที่กรุงโซลแห่งนี้ได้รับการประกาศชื่อไปแล้วว่าเป็น World Design Capital Seoul 2010     

ในขณะที่บ้านเรากำลังติดซีรีย์เกาหลี หรือใช้โทรศัพท์ยี่ห้อ LG รวมทั้งติดทีวีแบรนด์ Samsung หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้เป็นแค่บังเอิญ หรือเป็นไปตามกระแสแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่นั่นคือแผนงานภายใต้การผลักดันโซลให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านงานดีไซน์ แล้วประโยชน์อันใดจากงบประมาณมหาศาลที่จะผลักดันตัวตนสู่ความเป็นโลกสากล ประโยชน์อันใดที่จะก้าวเป็นผู้นำ หรือจะแค่การโอ้อวดต่อชาวโลกเท่านั้น ลองย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดกับพิษไอเอ็มเอฟ (พ.ศ. 2540) ผลกระทบที่ฉุดเศรษฐกิจเอเชียจนผอมแห้ง แต่เกาหลีใต้กลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับ จีนและญี่ปุ่น และไม่แน่ก้าวต่อไปเกาหลีใต้อาจจะวิ่งนำก็ได้ เอาล่ะ ยังพอมีเวลา กับคำถามที่ว่า “Where is the next  WDC?” กรุงเทพฯ หรือเปล่า?” ความฝันนี้คงพอๆ กับ บอลไทยจะไปบอลโลก ก็ฝันกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น