วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

Tokujin Yoshioka

New Design Trends

Text by Weerawouth Hransombat
ศิลปะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกจับจ้องมองมาทางฟากฝั่งเอเชียอย่างชื่นชม ขณะเดียวกันที่เราเองก็จับจ้องมองนวัตกรรมฝั่งตะวันตกอย่างฉงนสนเท่ห์ไม่แพ้กัน ไม่บ่อยนักที่ดีไซเนอร์เอเชียจะได้รับเสียงเชียร์จากชาวตะวันตก และไม่บ่อยนักที่เบรนด์ชื่อดังไม่ว่าจะเป็น Moroso, Vitra, NTT-X, Nissan, BMW, Shiseido, Hermes, Muji, Peugeot ไปจนถึง Swarovski แบรนด์เหล่านี้ต่างก็เคยจ่ายค่าจ้างให้ดีไซเนอร์เอเชียคนนี้ ไม่ใกล้ไม่ไกลประเทศไทยกับดีไซเนอร์ญี่ปุ่นนาม โตคูจิน โยชิโอกะ(Tokujin Yoshioka) หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี ดีกรีลูกศิษย์ ชิโร คุรามะตะ (Shiro Kuramata) ดีไซเนอร์ชื่อดังฝั่งญี่ปุ่น และ อีสเซ่ มิยาเกะ (Issey Miyake) แฟชั่นดีไซเนอร์และแบรนด์ดังฝั่งเอเชีย ด้วยความที่เขามองหาวัสดุใหม่ๆ อยู่เสมอในงานดีไซน์ จึงทำให้ผลงานเป็นที่น่าสนใจและสดใหม่อยู่เสมอ     

โตคูจินเป็นฟรีแลนซ์อยู่ราว 8 ปีจึงเปิดสตูดิโอเพื่อโชว์ศักยภาพของของเขาอย่างเต็มที่ในปี ค.ศ. 2000 ณ กรุงโตเกียว แต่เขาก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยแบรนด์อีสเซ่ มิยาเกะที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 20 ปีเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีอยู่ไม่ห่าง โดยโตคูจินทำงานเป็นส่วนหนึ่งของวงการแฟชั่นดีไซน์ เขาออกแบบข้าวของให้กับแบรนด์อีสเซ่ มิยาเกะและ ร้าน A-POC ไปจนถึงการผลิตชิ้นงานสำหรับติดตั้งที่ขนานนามว่า Issey Miyake Making Things ให้กับมูลนิธิคาร์เทียร์ (Cartier) ในกรุงปารีส จนทำให้เขาได้รับรางวัลอยู่เนืองๆ และผลงานของเขาก็ได้รับความสนใจจนถูกนำไปจัดแสดงเป็นคอลเล็กชั่นอย่างถาวร ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีศักดิ์มีศรีคับโลกอย่าง Museum of Modern Art ในกรุงนิวยอร์ก, Centre Pompidou ณ กรุงปารีส, Vitra Design Museum ในกรุงเบอร์ลิน และ Victoria & Albert Museum ในกรุงลอนดอน

รางวัลเด่นๆ สำหรับเขาก็จะเป็น Designer of The Year 2007 จัดโดย The Design Miami (ในบ้านเราก็มีรางวัลนี้เช่นกัน แต่จัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร) และ Best Furniture Designer จัดโดย Wallpaper* Design Award 2008 เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ชาวเอเชียที่เขย่าเหล่าดีไซเนอร์ฝั่งตะวันตกได้แรงทีเดียว เนื่องจากสิ่งที่โตคูจินจับจ้องอยู่นั้นสร้างให้เกิดกระแสเทรนด์ใหม่ๆ สำหรับการออกแบบโปรดัคต์ดีไซน์ซึ่งมองหาวัสดุที่แปลกและแตกต่าง เขาใช้วัสดุที่คุณไม่คาดคิดว่าจะกลายมาเป็นโปรดัคต์หลายๆ ชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ผ้า ฟองน้ำ ใยสังเคราะห์ กระดาษแก้ว ฯลฯ นั่นทำให้งานของเขาแปลกและแตกต่าง

I’m always working. When I’m eating, driving, when I go to bed... even when I sleep. Tokujin Yoshioka

ตั้งแต่หกขวบโตคูจินก็รู้ตัวเองแล้วว่าอาชีพในฝันของเขาคือดีไซเนอร์ เขาชอบที่จะตื่นขึ้นมาในตอนเช้าตรู่แล้วก็หยุดอยู่คนเดียวพร้อมๆ กับคิดฟุ้งมากมาย เขาคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของช่วงวัน ด้วยความที่เป็นดีไซเนอร์มืออาชีพดังนั้นเขาจึงทำงานในทุกท่วงท่าของจังหวะของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นตอนกินข้าว ขับรถ ตอนเข้านอน หรือกระทั่งขณะหลับก็ตามที ในหัวของหนุ่มใหญ่ไฟแรงผู้นี้ครุ่นคิดอยู่ตลอด ด้วยความต้องการที่จะสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนในวิถีทางอย่างง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนนัก นั่นเป็นเหตุผลให้เขาเลือกหรือไม่เลือกวัสดุต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในงานออกแบบ จะด้วยความน่าสนใจของวัสดุเองก็ตาม หรือไม่ก็ความแปลกใหม่ของวัสดุที่เป็นแรงดึงดูด นั่นทำให้โตคูจินศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องในการทำอย่างไรที่จะทำให้วัสดุเป็นมากกว่าแค่น่าสนใจ รวมไปถึงสีสัน ความหนาแน่น และบริบทรอบๆ ชิ้นงานดีไซน์ของเขา  

งานโปรดัคต์ดีไซน์ซีรีย์ของโตคูจินรู้จักกันในนาม ‘Tokyo-Pop’ ที่มีพื้นฐานมาจากงานดีไซน์ 'Honey-Pop' นำเสนอต่อสายตาชาวโลกโดย Driade และนอกจากงานโปรดัคต์แล้วเขายังดีไซน์ไปจนถึงสตรีทเฟอร์นิเจอร์ในโครงการพัฒนาเมือง Roppongi Hills ประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2003 ซึ่งรวบรวม 11 ดีไซเนอร์มาประชันสมองกันแบบขยักต่อขยักเลยทีเดียว ครั้งนั้นโตคูจินได้ออกแบบเก้าอี้ที่จะหายไปท่ามกลางสายฝนกระหน่ำนามว่า 'chair that disappears in rainy days' ด้วยความโปร่งใสที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนเดินถนนไม่น้อย

และที่สร้างความสะเทือนเลื่อนลั่นได้ไม่น้อยก็คือ เมื่อครั้งที่เขาได้ออกแบบร้านรวงแห่งใหม่ให้แก่ Swarovski บนย่านกินซ่า ในกรุงโตเกียว เมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งสิ่งแรกที่บรรเจิดความอลังการงานสร้างก็คือ façade แท่งสแตนเลสด้านหน้าทางเข้าประหนึ่ง Crystal Forestที่ต่อเนื่องไปจนถึงภายในร้านได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน ล่าสุดโตคูจินมีแผนการว่าจะเดินทางมาเยือนเมืองไทยในเร็วๆ นี้ เพื่อใช้แรงบันดาลใจจากไทยแลนด์สร้างสรรค์งานดีไซน์อันเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของเขาในอีกบริบท ถึงวันนั้นเราก็คงจะได้เห็นดีไซน์ไอเดียที่มาจากความเป็นไทย จะแปลกและแตกต่างประการใดจากความเป็นญี่ปุ่นก็ต้องลุ้นกันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น