That looks like the most beautiful ships and plays with the shadows of the linen seams which projects itself at the surface.
Text by Weerawouth Hransombat
วิสัยทัศน์พัฒนาเมืองของชาวเกาหลีกำเนิดเกิดจากการผสมผสานเรื่องราวของผู้คนเข้ากับเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สร้างความกลมกลืนบนความแตกต่าง หลากขนบวัฒนธรรม เพื่อทำให้โลกทั้งใบจะต้องจับจ้องมองมาเป็นตาเดียว ณ กรุงโซล และเพื่อเน้นย้ำความเป็น ‘World Design Capital (WDC) 2010’ เมืองหลวงที่ถูกขับเคลื่อนด้วยดีไซน์บนการไหลบ่าของวัฒนธรรมแห่ง ‘แม่น้ำฮัน’ (Han River) กรุงโซลจึงเป็นเมืองที่สับเปลี่ยนเวียนว่ายด้วยงานออกแบบซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง หลากหลายองค์ประกอบถูกประกบเพื่อขับให้ดีไซน์กลายเป็นวัฒนธรรมของผู้คนแดนโสม ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่รอช้าที่จะผลักดันผู้คนด้วยงานดีไซน์
จากการผุดโครงการประกวดไอเดียต่างๆ มากมายเพื่อขับเคลื่อนผู้คน และสิ่งหนึ่งที่สามารถขัดเกลาขนบได้เป็นอย่างดีเลิศนั่นก็คือ ‘ศิลปะ’ จึงทำให้การประกวดออกแบบศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งใหม่ได้กำเนิดเกิดขึ้น ในนาม ‘New Performing Arts Center’ บนเกาะ ‘Nodeul Island’ เกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำฮัน จนเป็นที่มาของไอเดียมากมายก่ายกองจากสถาปนิกทั่วโลกที่หลั่งไหลถ่ายเทแรงกันเข้ามา หลายผลงานมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป และความน่าสนใจหนึ่งในนั้นกับ ‘THE EYE OF THE STORM’ จากสำนักงานสถาปนิกฝรั่งเศส ‘Vincent Callebaut Architectures’ เรียกได้ว่าเป็นนัยต์ตาแห่งพายุที่จะโหมกระหน่ำกลางแม่น้ำฮันเลยทีเดียว
ตำแหน่งที่ตั้งของเกาะ Nodeul Island กลางแม่น้ำฮันประหนึ่งเส้นเลือดใหญ่ของคนเกาหลี วัฒนธรรมต่างๆ ถูกรื้อพื้นขึ้นมาริมแม่น้ำสายนี้ และที่โดดเด่นเป็นสง่ากว่าใครๆ นั่นก็คือพื้นที่กลางเกาะเล็กๆ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงแผ่นดินระหว่างเหนือและใต้เข้าด้วยกันบนสะพานอันเก่าแก่ ‘Hangang Bridge’ ไม่ว่ารถยนต์ รถไฟ ไปจนถึงคนเดินเท้าต่างก็คุ้นเคยกันดี จากการขยายออกของพื้นที่ในทิศตะวันออกและตก จึงทำให้เกิดจุดตัดแบ่งพื้นที่เกาะออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน และสร้างให้เกิดฟอร์มของอาคารที่เป็นรูปวงรีซ้อนกันอยู่ และคล้ายๆ กับการขึ้นของรูปฟอร์มของพายุที่กำลังหมุนวน
ด้วยความที่มันดูเหมือนนัยต์ตาที่คอยจับจ้องจู่โจมจึงถูกขนานนามว่านัยต์ตาแห่งพายุ แต่สำหรับอาคารหลังนี้ รูปฟอร์มที่เกิดขึ้นก็จะสะท้อนภาพของแสงสีอันอบอุ่นจากรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นอาทิตย์ยามเย็น ฟ้าสีครามยามค่ำ หรือผิวน้ำยามกระเพื่อมเป็นเกลียวระรอก ประหนึ่งพิวอาคารได้จับรูปทรงของสายลมเอาไว้ บางส่วนของอาคารจมไปในน้ำซึ่งเป็นพื้นที่เพิ่มเติมที่ขยายออกเพื่อจัดแสดงโชว์ แสง สี เสียง รอบๆ เกาะกลางน้ำ ที่นี่กำลังจะเปลี่ยนการรับรู้ของผู้เดินทางข้ามแม่น้ำฮัน สร้างให้เกิดจินตนาการดังนัยต์ตาแห่งพายุที่รุนแรงและรวดเร็ว โดยมีโรงละครที่อยู่ภายในอาคารบนส่วนของปลายวงรีทั้งสองข้าง จุผู้ชมได้ 1,500 คนในแต่ละโรง โดยเชื่อมโยงกันด้วยห้องเวิร์คช้อป ห้องแต่งตัว ห้องน้ำ ออฟฟิศ และส่วนเทคนิคต่างๆ
ความพิเศษอีกหนึ่งก็คือ พื้นผิวของอาคารที่ต้องเป็นสีขาวเพื่อจะได้สะท้อนแสงออกมาภายนอกให้ได้มากที่สุด ราวกับลำเรือที่ล้อเล่นกับแสงไฟส่องประกายสีส้มประหนึ่งนัยต์ตาพายุอันร้อนแรง! โครงการนี้จัดประกวดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 แต่ทว่าไอเดียนี้ดูยังไงก็ไม่เคยล้าหลัง และนี่ก็คือสิ่งที่กำลังขับดันชุมชนแดนโสมให้รุดล้ำก้าวหน้าไปด้วยงานดีไซน์ที่เปิดกว้างและสะพรั่งออกมาจากใจ ดังวลีทิ้งท้ายโปรโมท WDC Seoul 2010 ที่ว่า “It takes HEART” นั่นเอง!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น