วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

Prada Transformer

A state of the art project space

Photo courtesy of  OMA/Rem Koolhaas  / Text by Weerawouth Hransombat
ชื่อเสียงของออฟฟิศสถาปนิกอย่าง ‘OMA’ เรียกได้ว่าเป็นแม่เหล็กอย่างดีในการดึงดูดผู้คนในแวดวงสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะเมื่อเฮดดีไซเนอร์อย่าง ‘Rem Koolhaas’ ออกโรงแล้วด้วย และยิ่งได้จับมือกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง พราด้า (Prada) ด้วยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น? ซึ่งหากจะเปรียบเทียบเรื่องแบรนด์สักหน่อยก็คงต้องยกให้โปรเจ็คต์นี้ Chanel Mobile Art โดย Zaha Hadid กับแบรนด์ชาแนล (Chanel) และแน่นอนเมื่อพราดร้าลงสนามกับ Koolhaas โปรเจ็คต์นี้ย่อมไม่ธรรมดา เริ่มตั้งแต่ชื่อ ‘Prada Transformer’ พาวิลเลียนเล็กๆ ที่มีหลากหลายฟังก์ชั่นในตัวเอง เรียกได้ว่าเป็น พาวิลเลียนเปลี่ยนร่าง เลยก็ว่าได้ และท้ายที่สุดโปรเจ็คต์นี้จะไปวางอยู่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมืองที่กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการออกแบบในไม่ช้า

โดยทั่วไปพาวิลเลียนก็จะถูกออกแบบมาเพื่อกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่สำหรับโปรเจ็คต์นี้ ความน่าสนใจของ Prada Transformer อยู่ตรงที่การใช้งานซึ่งเกิดจากการพลิกไป-มาตามด้านต่างๆ โดยแต่ละด้านก็จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะกับสถาปัตยกรรม และแฟชั่นกับสถาปัตยกรรมอีกที ฟังดูอาจจะมองภาพไม่ออกว่าพาวิลเลียนขนาดใหญ่จะพลิกไปมาง่ายๆ ได้อย่างไร งานนี้ Koolhaas ได้ออกแบบให้ตัวพาวิลเลียนใช้โครงสร้างเหล็ก ปิดผิวด้วยวัสดุยืดหยุ่น ดังนั้นน้ำหนักโดยรวมของพาวิลเลียนจึงเบา นั่นสามารถใช้เครนขนาดใหญ่ 3 4 ตัวช่วยกันยก เพื่อพลิกให้พาวิลเลียนอยู่ในฟังก์ชั่นที่ต้องการ

ตัวพาวิลเลียนมี 4 ด้าน โดยด้านแรกจะเป็นรูปหกเหลี่ยม อีกด้านเป็นรูปกากบาท ส่วนอีกด้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก และอีกด้านจะเป็นวงกลม ด้านแต่ละด้านจะประกอบกันด้วยรูปฟอร์มดังกล่าว ซึ่งไม่มีการลดทอนฟอร์มของตัวเองเลยแม้แต่น้อย ฟอร์มของแต่ละด้านมาประกอบกันแบบหลวมๆ โดยปล่อยให้ช่องว่างที่เหลือเป็นหน้าที่ของ façade ผ้าใบสีขาวทำการปิดผิวไป โดย Koolhaas อธิบายฟังก์ชั่นของพาวิลเลียนในขณะที่ถือโมเดลอยู่ในมือ พร้อมกับพลิกไปมาเพื่อบอกกล่าว พาวิลเลียนหลังนี้มีถึง 4 กิจกรรมในหลังเดียว นั่นกลายมาเป็นชนวนให้เกิดคอนเซ็ปต์ของงานนี้ เขากล่าว  

เมื่อคว่ำรูปหกเหลี่ยมลง ฟังก์ชั่นก็จะเหมาะสำหรับการจัดนิทรรศการด้านแฟชั่น ส่วนด้านสี่เหลี่ยมมุมฉากก็เหมาะสำหรับการจัดสัมมนา โดยเพิ่มเติมในส่วนของที่นั่งเข้ามา สำหรับด้านวงกลมก็จะเหมาะสำหรับจัดกิจกรรมพิเศษๆ หรือแฟชั่นโชว์ และด้านที่เป็นกากบาทจะเหมาะสำหรับการจัดแสดงงานศิลปะ งานนี้นอกจาก Koolhaas แล้ว เขายังได้จับมือกับ Kunle Adeyemi และ Chris van Duijn และสถาปนิกนักออกแบบอย่าง Alexander Reichert อีกด้วย     

แม้งานนี้จะไม่เฟี้ยวฟ้าวอย่าง Chanel Mobile Art ของ Hadid แต่ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในเชิงผลลัพธ์ นี่อาจจะเกี่ยวกับภาพยนตร์ภาคต่อย่าง Transformer 2 ก็ได้ จากชื่อที่ทำให้เชื่อมโยงถึงกัน ตั้งแต่ตัวสถาปนิก แบรนด์ ไปจนถึงการเกาะกระแสของโลก ณ ปัจจุบัน ซึ่งภาพแรกเมื่อคุณได้ยินชื่อ Prada Transformer คุณอาจจะคิดถึงภาพยนต์ก่อนเสียด้วยซ้ำ นั่นชี้ให้เห็นอิทธิพลของสื่อต่างๆ ที่มีผลต่อการรับรู้งานสถาปัตยกรรม และงานนี้ก็เชื่อว่า เปิดการรับรู้ใหม่ๆ ให้แก่วงการสถาปัตยกรรมแบบที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น