วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

SUPER STAR

A MOBILE CHINA TOWN 2008, the redundant and increasingly out-of-date nature of the contemporary China Town.
Images by MAD architects / Text by Weerawouth Hransombat

ด้วยความที่เป็นแผ่นดินใหญ่ลำดับที่ 3 ของโลก แต่ก็มีประชากรอันดับหนึ่ง คือราวๆ 1.3 พันล้านคน ดังนั้นเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมจึงมากมายหลายหลาก รวมไปถึงภูมิอากาศที่มีตั้งแต่ร้อนระอุไปจนถึงหิมะโปรยปราย นั่นรวมอยู่บนผืนแผ่นดินจีน ประเทศหนึ่งเดียว หากแต่มีสองระบบการปกครอง คือ คอมมิวนิสต์ บนแผ่นดินใหญ่ซึ่งไม่นับรวมไต้หวัน และประชาธิปไตยในระบอบทุนนิยมเสรีบนฮ่องกงและมาเก๊า ภาพคร่าวๆ ของเมืองนั่นก็ไม่ต่างไปจากมหานครยักษ์ใหญ่ทั่วโลกนัก ตามถนนที่เต็มไปด้วยร้านรวงช้อปปิ้ง สถานีบริการน้ำมัน และร้านสาขาของแมคโดนัลด์ ฉากเหล่านั้นแสดงให้เห็นหลากวัฒนธรรมที่น่าเบื่อซ้ำซากจำเจไม่ต่างกันนัก จนบางครั้งนั่นก็เป็นเพียงวัฒนธรรมจอมปลอมประหนึ่งหน้ากากแป๊ะยิ้มที่ถูกฝรั่งผมทองสวมใส่ แล้วชีวิตจริงๆ ข้างในนั้นล่ะมีหรือไม่? เหล่านั้นเสมือนทัศนะอุจาดที่พิฆาตพื้นที่ว่างของเมืองให้ย่อยยับ แล้วอะไรที่จะบำบัดรักษาบนสภาวะปัญหาเช่นนั้น?

คำตอบก็คือ Superstar: A Mobile China Town’ ชุมชนคนจีนเคลื่อนที่ในรูปฟอร์มดวงดาราขนานใหญ่ จากไอเดียในการจัดการพื้นที่สาธารณะของสถาปนิกเลือดมังกรใหม่ในนาม ‘MAD’ การันตีความหนุ่มแน่นของพวกเขาด้วยด้วยรางวัล ‘Architectural League Young Architects Award’ ปี ค.ศ. 2006 ในเมื่อดีไซน์เดิมซึ่งเกิดจากความฟุ่มเฟือยและความล้าสมัยไปจนถึงคร่ำครึที่เพิ่มขึ้นทุกวี่ทุกวัน อันเป็นธรรมชาติของย่านคนจีนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะมากกว่าแค่การปะติดปะต่อกันอย่างสะเพร่าของโครงสร้างราคาถูกและการโหยหาอดีตวันวานแต่เพียงอย่างเดียว

โปรเจ็คต์ Superstar ซึ่งเต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบก็จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ นอกจากรูปฟอร์มราวกับเอเลี่ยนแล้ว มันยังมีเรื่องราว และรูปแบบดีไซน์ที่เหนือไปกว่าทั้งหมดทั้งมวลบนความเป็นโมเดิร์นแห่งศตวรรษที่ 20 ของชุมชนคนจีนในปัจจุบัน ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับสร้างความสุขสนุกสนาน แหล่งบริโภคอาหารจีน เต็มไปด้วยคุณภาพคับแก้ว และกิจกรรมด้านวัฒนธรรมคับคั่ง ด้วยการเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสำหรับความคิดสร้างสรรค์และการกำเนิดผลิตผล ที่ที่ผลเมืองจะสามารถใช้เป็นแหล่งปฏิบัติการเรียนรู้ ไปจนถึงการออกแบบ พร้อมๆ กับการตระหนักรู้บนแนวความคิดเหล่านั้น    

ความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการที่จะบรรจุสังคมใหม่นี้เข้าไปในดีไซน์ก็คือ ทำอย่างไรให้มันสามารถใช้การได้ โดย Superstar: A Mobile China Town นี้จึงเปรียบดั่งไวรัสฝ่ายธรรมะที่คอยเปล่งพลังอันเร้นลับสอดแทรกระหว่างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร้หลักการ และความสงบนิ่งอย่างมีหลักการ มันสามารถนำไปสู่ทั่วทุกมุมโลก เพื่อการแลกเปลี่ยนพลังงานใหม่ๆ ให้แก่ชาวจีนในทุกๆ สภาพแวดล้อมที่มันดำรงอยู่ พร้อมกับมีความยั่งยืนโดยตัวมันเอง เติบโตด้วยอาหารของตัวเอง Superstar จึงไม่เบียดเบียนทรัพยากรณ์บนเมืองที่มันตั้งอยู่ ในทางตรงกันข้ามมันกลับสามารถนำของเสียมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้

เพื่อทำให้สังคมเคลื่อนที่นี้กลายเป็นที่พำนักพักอาศัยของผู้คนบนธรรมชาติอันแท้จริงของชาวจีน ที่นี่จึงประกอบไปด้วยรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ ส่วนกิจกรรมด้านการกีฬา และทะเลสาบน้ำดื่ม เมื่ออาศัยอยู่ใน Superstar ราวกับได้ท่องเที่ยวไปในงานปาร์ตี้โอลิมปิกก็ไม่ปาน เนื่องจาก Superstar สามารถเดินทางไปสู่เมืองแม่แห่งใหม่ได้ในทุกๆ 4 ปี ทั้งยังมีที่ฝังศพอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการจดจำผู้ที่ล่วงลับดับหาย โดยที่แห่งนี้วาดฝันไว้ว่าจะสามารถใช้เป็นที่อาศัยของผู้คนถึง 15,000 คน ซึ่งไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใดๆ ให้สังเกต หากแต่เป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีและธรรมชาติ อนาคตและมนุษยชาติ เข้าไว้ด้วยกันในดาวดวงโตมโหฬาร

แนวความคิดราวบทกวีบนงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ถูกจัดแสดงที่ ‘Venice Architecture Biennale’ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Uneternal City ดูแลโดย Aaron Betsky และไม่ว่า Superstar: A Mobile China Town ดวงนี้จะบรรลุถึงฝั่งฝันหรือไม่ เชื่อได้ว่าไอเดียที่จะนำเอาวัฒนธรรมและผู้คนบรรจุไว้ในสถาปัตยกรรมประหนึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่เช่นนี้คงถูกโจษจันกันอีกนาน       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น