วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

Japan Architect

Asia and my Architecture: Kengo Kuma
ผมกับ Kengo Kuma และ Shigeru Ban
Kengo Kuma สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น ในความเป็นตัวตนของเขา ซึ่งแท้จริงแล้วเขาเองก็คงไม่ต้องการให้มีอะไรที่เป็นลายเซ็น ไม่เหมือนกับงานของ ‘Tadao Ando’ หรือ ‘Frank Gehry’ หรือกระทั่ง ‘Zaha Hadid’ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้แค่เราดูผ่านๆ ก็คงพอจะเจาะจงได้แล้วว่าเป็นงานของใคร แต่สำหรับ Kuma นั่นไม่ใช่สถาปัตยกรรมในแบบของเขา

จากการบรรยายที่ผมเคยฟังในงานสถาปนิก 06 ซึ่งตอนนั้นเขาบรรยายในหัวข้อ ‘Asia and my Architecture’ โดยมาพร้อมกับ ‘Shigeru Ban’ ซึ่งจริงๆ ในตอนแรกผมเองก็สนใจที่ Ban มากกว่า เนื่องจาก ‘สถาปัตยกรรมกระดาษ’ ของเขาที่ค่อนข้างจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่างานของ Kuma

แต่ Kuma นั้น เขาสร้างสถาปัตยกรรมที่ดูเรียบง่าย ลดทอนการประดับตกแต่งที่เยอะเกินไป จากการปรับประยุกต์งานสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นสู่ความร่วมสมัย สังเกตได้ว่าอาคารต่างๆ ของเขานั้น ถ้าไม่บอกว่า Kuma เป็นสถาปนิก เราอาจจะมองไม่ออกก็ได้ว่าเป็นงานของเขา เนื่องจาก Kuma มีแนวทางการออกแบบที่มุ่งไปที่ความแตกต่าง ทั้งวัฒนธรรม สังคมที่เป็นอยู่ และรูปแบบเทคโนโลยีที่บ่งบอกยุคสมัย คือ ถ้าสถาปัตยกรรมของเขาไปอยู่ที่ไหน มันก็จะต้องเกิดขึ้นเพื่อบ่งบอกความเป็นที่นั่น ไม่ใช่บ่งบอกตัวตนของเขา ในการบรรยายครั้งนั้น Kuma จะให้ความสำคัญกับวัสดุที่จะเป็นตัวก่อเกิดอาคาร และเขามักจะหยิบยกวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ มาใช้อยู่เสมอ นั่นคือแนวทางของ Kuma ที่สะท้อนกับงานออกแบบเขาแทบทุกชิ้น

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

Tadao Ando

Tadao Ando
From Wikipedia, the free encyclopedia
Text by Weerawouth Hransombat / Feed Me
มีคนเคยถาม ‘Tadao Ando’ ว่า “คุณอ่านหนังสือสถาปัตยกรรมหรือดีไซน์แมกกาซีนบ้างมั้ย?” Ando ตอบว่า “ผมไม่ได้อ่าน แค่ดูผ่านๆ” นั่นคือวิธีเรียนรู้ของ Ando อย่างที่เรารู้ๆ กันว่า เขาศึกษาและทำความเข้าใจศาสตร์ทางด้านสถาปัตยกรรมด้วยตนเอง ผ่านการท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ผ่านการสัมผัสกับธรรมชาติ ชีวิต ผู้คน นั่นเป็นวิถีแบบ Ando ...แล้ววิถีของคุณล่ะ?

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

Property and Real Estate Developers in Thailand

Text by Weerawouth Hransombat / Feed Me
จากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ข้อมูลว่า อสังหาริมทรัพย์ที่เปิดตัวใหม่ในปี 53 ที่ผ่านมามีถึง 429 โครงการ โดยเป็นโครงการที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลถึงกว่า 115,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าก็เกือบ 3 แสนล้านบาท! เรียกได้ว่ามากที่สุดเป็นประวัติกาล ทุบถล่มทำลายสถิติในรอบ 16 ปีเลยก็ว่าได้ และในปีนี้ก็คาดว่าจะเปิดตัวในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งนักลงทุน รวมไปถึงผู้ประกอบการ และผู้ซื้อจึงควรต้องระวังภาวะฟองสบู่แตกในปี 55 ไว้ด้วย เพราะนี่อาจจะกระทบกับชีวิตในระยะยาวมากกว่าภัยจากน้ำท่วมเสียอีก     

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

Blend of Art

Pot-Pourri
Text by Weerawouth Hransombat / Feed Me
ความคิดและจิตวิญญาณของแต่ละชาติพันธุ์มักจะถูกผสานรวมกันเป็นหนึ่งกับงานศิลปะ ศิลปะที่ถ่ายทอดผ่านสื่อสัมผัสอันหลากหลาย ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจอันเสมือนผืนผ้าใบของงานศิลป์ เหมือนๆ กับกระบวนการสร้างสรรค์ของชาวออสซี่ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมอย่างหลากหลาย จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน จากชาวอะบอริจิน (Aborigine) และชาวเกาะทอร์เรส สเทรท (Torres Strait Islander) บรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวออสซี่ สู่ศาสตร์และศิลป์ด้านอุปรากรแนวใหม่ในยุคปัจจุบัน และนี่ก็คือ 1 ใน 5 ของคณะอุปรากรที่น่าจับตามองของออสเตรเลียในนาม พอท-พัวร์รี(Pot-Pourri) คณะอุปรากรที่ผสมผสานศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกันจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างยิ่ง

กว่า 40 ประเทศที่พอท-พัวร์รีจากกรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเปิดการแสดง ไม่ว่าจะเป็นแถบยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา และผลงานในรูปแบบซีดีถึง 6 แผ่น โดยการแสดงของพอท-พัวร์รีจะเป็นอุปรากรแนวใหม่ จากการควบรวมกันของศิลปะหลากแขนงอย่าง ละครเพลง โอเปร่า มายากล ผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าอะบอริจินอย่าง ดิดเจอริดู (Didgeridoo) และการแสดงตลก ศิลปะเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านการแสดงอย่างงดงามและร้อนแรง ด้วยสุ้มเสียงอันสุดสูงระดับโอเปร่า และเสื้อผ้าแบบละครบอร์ดเวย์ เย้ายวนรัญจวนใจด้วยเสียงเพลงในการเต้นรำที่รุนแรงราวพายุ ปลุกเสกให้เกิดมนตรา พร้อมด้วยการรบเร้าจิตวิญญาณของผู้ชมจากบทเพลงพื้นเมืองที่สถิตอยู่ในความทรงจำมิรู้เลือน

อุปรากรของพอท-พัวร์รีมีหลายรูปแบบ และที่นิยมมากเป็นพิเศษก็คือ ‘From Figaro to Phantom’ อันเป็นการพัฒนามาจากโอเปร่าสู่ละครบอร์ดเวย์ผสมกับความฮา! นี่จึงเป็นอรรถรสอีกแบบซึ่งแตกต่างจากละครบอร์ดเวย์ดั้งเดิมที่เราเคยรู้จัก โดยการแสดงชุดนี้ก็ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่หลายแดนดิน ตั้งแต่ออสเตรเลีย เกาหลี เอเชีย สหรัฐอเมริกา ยุโรป ไปจนถึงแปซิฟิกใต้ ด้วยการแสดงที่ร่วมสมัย ผสมผสานไปกับการล้อเลียนภาพยนตร์ The Phantom of the Opera เรียกได้ว่าทั้งฮาและไพเราะ

สำหรับใครที่โหยหาอดีต (Nostalgia) พอท-พัวร์รีก็มีการแสดงชุด ‘An Enchanted Evening with Pot-Pourri’ ที่จะสร้างความเบิกบานตระการตา โดยการแสดงชุดนี้เป็นการดึงจุดเด่นของการแสดงละครบอร์ดเวย์ โอเปร่า และละครเพลงออกมาสู่อุปรากรแนวใหม่ คล้ายๆ กับการแสดงชุดอื่นๆ ของทางคณะแต่จะมีการเพิ่มจุดเด่นบางอย่างเข้าไปเพื่อให้ผู้ชมเสมือนได้อยู่ท่ามกลางโลกแห่งเสียงเพลงซึ่งรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ในบรรยากาศของการบรรเลงเปียโนภายใต้แบ็คกิ้งแทร็ค และวงออแคสตร้า   

อีกหนึ่งการแสดงที่แปลกกว่าใครๆ และยังเป็นแนวความคิดแบบใหม่ของพอท-พัวร์รี นั่นก็คือ การแสดงชุด ‘Opera Circus’ ที่เป็นรวบรวมเอาการแสดงโอเปร่ากับนักกายกรรมละครสัตว์มาเล่นบนเวทีเดียวกัน ซึ่งคุณจะไม่ได้เห็นที่ใดมาก่อนในโลก! รวมไปถึงการอ่านโครงกลอนสั้นๆ โชว์การทรงตัว การแสดงกายกรรมบนที่สูง พร้อมด้วยนักร้องโอเปร่าที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลีย เรียกได้ว่าครบถ้วนกระบวนความสนุกสนาน ประหนึ่งกำลังนั่งชมละครสัตว์คละเค้าเสียงเพลงโอเปร่า บวกกับละครดราม่าไปในตัว ด้วยชุดการแสดงอันสวยงาม แถมขบขันกับการแสดงตลก และมหัศจรรย์ใจกับมายากลบนเวที นี่จึงเป็นหนึ่งทางเลือกของศิลปะและความบันเทิงในแบบพิเศษสุดๆ

นอกจากการแสดงชุดต่างๆ ดังกล่าวแล้ว พอท-พัวร์รีก็ยังมีการแสดงอีกหลากหลายอย่างเช่น Come to the Cabaret, Opera under the Stars / Opera in the Vineyard, A Night on Broadway / Broadway Under the Stars, The Warbles, Diva!, The Pianist & the Diva, Diva! & Divo!, Figaro! Figaro! Figaro! และ The Maid, her Master, his Mistress and the Butler แน่นอนว่าทั้งความสนุกสนานและความไพเราะก็ยังไม่แพ้กัน ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ พวกเขาสามารถสร้างสรรค์การแสดงเพื่อให้เข้ากับความต้องการบุคคลพิเศษ หรือการเฉลิมฉลองที่ต้องการความมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครซึ่งพอท-พัวร์รีก็พร้อมที่จะบันดาลใจให้ ดุจการพรรณนาด้วยพรสวรรค์อันเจิดจรัส เต็มไปด้วยความสนุกสาน สดใหม่ สร้างแรงบันดาลใจ และอย่าพลาดการแสดงของพวกเขาหากคุณมีโอกาส

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

World Design Capital Seoul 2010

Design to Improve Life
Text by Weerawouth Hransombat / Feed Me
เอาล่ะ แม้จะเข้าปี ค.ศ. 2011 แล้วแต่ประโยคสั้นๆ “It Takes HEART” ที่เป็นสโลแกนของ ‘World Design Capital Seoul 2010’ ก็ยังคงเป็น case study ที่ยังคงน่าสนใจอยู่ ผมก็เลยจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งจากสโลแกนคงพอจะบอกให้เรารู้ได้ว่าเมืองแห่งนี้สร้างด้วยหัวใจ ด้วยดีไซน์ที่เตรียมพร้อมเพื่อการก้าวสู่ความเป็น World Design Capital™ (WDC) จัดตั้งขึ้นโดยสมาคมออกแบบอุตสาหกรรมนานาชาติ (The International Council of Societies of Industrial Design: Icsid) ชื่อที่แต่งตั้งขึ้นทุกๆ 2 ปี จากการคัดเลือกภายใต้การมองหาเมืองที่บรรลุผลสำเร็จด้วยงานออกแบบ และการอุทิศตนในการสร้างสรรค์งานออกแบบที่มีผลต่อสังคม วัฒธรรม และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในปี 2010 นี้มีผู้ท้าชิงอีก 2 เมืองคือ เมืองแห่งไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ (City of Eindhoven, The Netherlands) และ เมืองแห่งเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ (City of Helsinki, Finland) ซึ่งทั้งสองเมืองก็ใช่ย่อยในด้านการออกแบบ แต่ท้ายที่สุดกรุงโซลก็กระโจนมารับตำแหน่งนี้ในที่สุด ทำไมจึงต้องเป็นโซล? โซลมีอะไรถึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบในปีนี้?

It Takes HEART
ก่อนหน้ากรุงโซลนั้น เมืองแห่งโตริโน ประเทศอิตาลี (City of Torino, Italy) ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบมาก่อน (2008 2009) และไม่ผิดหรอกที่เกาหลีใต้จะทะเยอะทะยานและฝันอยากจะขับเคลื่อนโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ก็จงฝันกันต่อไป หากไม่ลงมือทำฝันก็จะสลายในที่สุด แต่เกาหลีใต้ไม่ได้ทำแค่ฝัน พวกเขาลงมือทำอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลฯ ได้วางรากฐานนี้มาตั้งแต่ปี 2006 จากประโยคที่ว่า งานออกแบบคือทุกสิ่งทุกอย่าง คำกล่าวนี้เป็นของนายกเทศมลตรีกรุงโซลนามโฮ เซ ฮุน (Oh Se Hoon) ด้วยวิสัยทัศน์ของโฮที่คิดว่า งานออกแบบจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนชาวเกาหลีได้แน่นอน

ศักยภาพนี้แสดงให้เห็นผ่านโครงการต่างๆ ที่วางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยโฮวางได้วางรากฐานเพื่อเตรียมกรุงโซลให้เป็นศูนย์กลางด้านงานออกแบบอย่างไม่รอช้า เขาได้จัดตั้งแผนกออกแบบนำโดยรองนายกเทศมนตรีและจัดงานประกวดเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของเมือง จัดอบรมสัมนาสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมตัวเร่งความเร็วครั้งใหญ่ในงาน Seoul Design Olympiad ซึ่งนำเอาของดีทางด้านงานออกแบบแดนโสมมาอวดสายตาชาวโลกได้อย่างไม่เกรงใจเมืองคู่แข่ง เรียกว่าใครดีใครได้ เกมง่ายๆ ที่เล่นยากเหลือเกิน แต่โซลก็เล่นไปแล้ว พวกเขานำนักออกแบบชั้นนำมาแสดงผลงาน รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับงานออกแบบเพื่ออวดชาวโลก

อีกชื่อหนึ่งที่เข้ามาเป็นส่วนผลักดันกรุงโซลได้ไม่น้อยกับนามของ ‘Zaha Hadid’ สถาปนิกระดับโลกที่เข้ามาออกแบบ ทงแดมุน ดีไซน์ พาร์ค (Dongdaemun Design Park) ในงบประมาณกว่า 98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอื่นๆ อีกกับวิสัยทัศน์ของโซลที่จะเป็นเมืองในฝันด้วยงานดีไซน์ แน่นอน ดีไซน์ในมุมมองของรัฐบาลฯ จะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตพลเมือง เสริมสร้างรากฐานวัฒนธรรม ปรับปรุงบริบทแวดล้อมของเมือง สร้างสรรค์ชุมชนให้เกิดการแบ่งบันทางสังคม โดยอาศัยพลเมืองของเกาหลีใต้เป็นตัวขับเคลื่อน 

   
_Universal Design City
กับเมืองที่เป็นของทุกคน โดยผลเมืองชาวเกาหลีใต้ทุกผู้ทุกนาม ที่จะได้สนุกในการใช้ชีวิตไปกับเมืองของพวกเขา นั่นรวมไปถึงการใส่อกใส่ใจกับความยั่งยืน ความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเป็นเมืองที่มีความงาม มีคุณประโยชน์ สภาพแวดล้อมดี และสังคมแห่งการออกแบบที่จะไม่ละทิ้งผู้คนพลเมืองเกาหลีใต้

_Ubiquitous Design City
ดีไซน์ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งของมุมเมือง นั่นไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ กรุงโซลก็จะเชื่อมโยงกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะนำเมืองมุ่งสู่วันข้างหน้า และเตรียมการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการจราจรขนส่ง ปัญหาการว่างงาน เมืองนี้จะตอบปัญหาของพลเมืองไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ สรุปคร่าวกับ 6 ข้อแม้ คือไม่ว่าเวลาไหน, ที่ใด, โครงข่ายไหน, วิธีการอะไร, ปัญหาไหน และการบริการแบบใด เมืองแห่งนี้จะมีคำตอบให้คุณในคีย์เวิร์ด U-Care, U-Fun, U-Green, U-Transport, U-Business และ U-Governance    

_By U
ที่สำคัญเมืองแห่งนี้ยังสร้างสรรค์ด้วยความเป็นพลเมืองอย่างชาวเกาหลีใต้ โดยเน้นให้พลเมืองทุกผู้ทุกนามได้มีสิทธิ์มีเสียงในการสร้างเมืองของพวกเขา เหมือนคำไทยๆ ที่ว่า ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน นั่นเอง กรุงโซลก็เช่นกัน ในการจะพัฒนาแบบก้าวกระโดดเช่นนี้นั้น ยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับฉันทามติจากพลเมือง ใช่ว่าภาพที่เห็นจะเป็นเพียงแค่ฉากบังตาเพื่อให้ชาวโลกอึ้งทึ่งเสียวกันไปเท่านั้น แต่ฉากนั้นพลเมืองเกาหลีจะต้องอิ่มเอมเต็มใจไปกับมันด้วยเช่นกัน นี่คือ อนาคตของกรุงโซล

ภาพที่เราเห็นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของกรุงโซลเมืองหลวงแห่งการออกแบบนี้ สรุปเป็นขั้นบันไดมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2006 ส่วนภาพชัดๆ จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างในปี 2008 ซึ่งมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ความเป็น WDC รวมไปถึงการริเริ่มโปรเจ็ตค์ต่างๆ นานาที่จะขับเคลื่อนเมืองนี้สู่ศูนย์กลางงานออกแบบ จนในปี 2009 แผนการในการเตรียมอีเว้นท์ต่างๆ ก็เผยให้เห็น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงการออกแบบสู่สากล ดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามาเกาหลีใต้แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย และไม่ต้องรีรออีกให้เสียเวลากับปี 2010 ที่กรุงโซลแห่งนี้ได้รับการประกาศชื่อไปแล้วว่าเป็น World Design Capital Seoul 2010     

ในขณะที่บ้านเรากำลังติดซีรีย์เกาหลี หรือใช้โทรศัพท์ยี่ห้อ LG รวมทั้งติดทีวีแบรนด์ Samsung หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้เป็นแค่บังเอิญ หรือเป็นไปตามกระแสแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่นั่นคือแผนงานภายใต้การผลักดันโซลให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านงานดีไซน์ แล้วประโยชน์อันใดจากงบประมาณมหาศาลที่จะผลักดันตัวตนสู่ความเป็นโลกสากล ประโยชน์อันใดที่จะก้าวเป็นผู้นำ หรือจะแค่การโอ้อวดต่อชาวโลกเท่านั้น ลองย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดกับพิษไอเอ็มเอฟ (พ.ศ. 2540) ผลกระทบที่ฉุดเศรษฐกิจเอเชียจนผอมแห้ง แต่เกาหลีใต้กลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับ จีนและญี่ปุ่น และไม่แน่ก้าวต่อไปเกาหลีใต้อาจจะวิ่งนำก็ได้ เอาล่ะ ยังพอมีเวลา กับคำถามที่ว่า “Where is the next  WDC?” กรุงเทพฯ หรือเปล่า?” ความฝันนี้คงพอๆ กับ บอลไทยจะไปบอลโลก ก็ฝันกันต่อไป

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

2010 Hospitality Design

Bondi Junction Events Cinemas Set Bar
Photo courtesy of Indyk Architects Pty Ltd / Text by Weerawouth Hransombat / Feed Me

‘Set Bar’ บาร์เล็กๆ ที่ผสานปรัชญาของโครงการด้วยวิธีการเชื่อมต่อสเปซ ภายใต้ข้อจำกัดที่หลากหลาย จากการดีไซน์ของสำนักงาน ‘Indyk Architects Pty Ltd’ ถึงแม้จะมีงบที่จำกัดในการทำงาน แถมยังมีองค์ประกอบบางอย่างที่จะต้องเก็บรักษาไว้เพื่อตอบโจทย์เบื้องต้น และสิ่งแรกที่พวกเขาลงมือทำก็คือ การสร้างห้องไม้อัดที่ดูเหมือนซุ้มซ้อนเข้าไปในสเปซใหญ่อีกชั้น บริเวณฝั่งขวาจากทางเข้าหลักไปถึงบันไดเลื่อนที่ ‘Events cinemas Bondi Junction’ ในธีมสีที่สอดคล้องกันไปในทุกๆ สเปซ ด้วยสีแดง ดำ เทา ถึงแม้จะมีการปูพื้นหินแกรนิตมันเงาอยู่ แต่ก็สะท้อนด้วยแพตเทิร์นใหม่ของพรม สร้างความเคลื่อนไหวและเชื่อมโยง ตั้งแต่ฝ้าไม้อัดที่เลื้อยขึ้นไปด้านบน ซึ่งบ่งบอกอาณาเขตที่เรามาถึง และแสดงตัวเป็นบางส่วนของทางเดิน โดยแผ่นไม้อัดที่จะเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นผนัง สู่ฝ้า รวมไปถึงการแสดงตัวเป็นเสาโค้งที่บ่งบอกอาณาบริเวณให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

2010 Corporate Design: 2 FISH

2 FISH

Photography by Dianna Snape / Text by Weerawouth Hransombat
ใครว่าของใหญ่และงบเยอะเท่านั้นจึงจะดึงดูดสายตา แต่งานอินทีเรียชิ้นนี้ แม้จะมีสเปซเล็กๆ และสะกิดงบประมาณที่ไม่เยอะนัก ทว่าสายตาคุณกลับจับจ้องมองเขม็ง และนี่ก็คือ งานของ ‘Ryan Russell’ กับออฟฟิศ 2Fish’ ซึ่งไม่ได้เลี้ยงปลา 2 ตัวขายแต่อย่างใด หากแต่พวกเขารับจัดการงานอีเว้นท์ต่างหากล่ะ โดยภายในออฟฟิศก็จะมีการใช้สีที่เรียกได้ว่า ช่างกล้า (หาญ) นั่นนำมาซึ่งภาพลักษณ์และความเป็นนามธรรมทางความคิดของออฟฟิศแห่งนี้ ด้วยการปูพรมแดง และสาดสีแดงใส่ในเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นๆ รวมทั้งร้อยเชือกสีแดงเชื่อมโยงพื้นไปสู่ฝ้าเพดาน อันเป็นการเทียบเคียงองค์ประกอบต่างๆ ให้เห็นชัดๆ นั่นจึงจับสายตาผู้พบเห็นราวกับการกระตุกเบ็ดล่อปลา ด้วยงบประมาณที่จำกัดจำกี่งานนี้จึงต้องนำของเก่ามาปัดฝุ่น จากการเลือกใช้เก้าอี้มือสองมาฉาบสีสันแดงสดเพื่อให้เข้ากันกับอินทีเรียใหม่ของพวกเขา   

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

2010 Public Design: FITZROY HIGH SCHOOL

Fitzroy High School
Melbourne, Australia

Photo courtesy of McBride Charles Ryan / Text by Weerawouth Hransombat
ทำอย่างไรจะดึงดูดให้ใครๆ หันมาเล่าเรียน? โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เห็นโรงเรียนราวยาขม หาใช่ขนมหวาน งานนี้จึงตกเป็นการบ้านของ ‘McBride Charles Ryan’ กับการออกแบบโรงเรียนเท่ๆ อย่าง ‘Fitzroy High School’ ในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โปรเจ็คต์นี้เรียกได้ว่า กล้าและท้าทายต่อสายตา ด้วยการดีไซน์งานสถาปัตยกรรมที่จะกลายเป็นแม่เหล็กปลุกเสกให้เด็กๆ ตบเท้าเข้าห้องเรียน นอกจาก façade ภายนอกจะเล่นสีราวกับชั้นขนมหวานน่ารับประทานซะเหลือเกินแล้ว ภายในก็ใช่ย่อยน้อยหน้า เพราะยังคงเชื่อมโยงตามติดมาด้วยสีสันอันแสบทรวง กับสีสดใสฉูดฉาดๆ ที่จะเปลี่ยนสเปซเดิมๆ ให้ดูฉลาดขึ้นอีกเป็นกอง โดยสีสันเหล่านี้ก็จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการจำแนกสเปซและเปลี่ยนบรรยากาศ ด้วยการใช้ม่านผ้าและเฉดสีที่แตกต่างกันไป ด้วยการใช้สีสันอันเต็มเปี่ยมนี้จึงกลายมาเป็นเอกลักษณ์และนวัตกรรมของอาคารไปในที่สุด

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

Media House

Docklands, Melbourne

Photo courtesy of Bates Smart Architects / Text by Weerawouth Hransombat
ภาพลักษณ์ความเป็นองค์กรด้านมีเดียระดับแถวหน้า และท่วงจังหวะลีลาของสุดยอดเวิร์คสเปซถูกนำเสนอโดย ‘Bates Smart’ ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบโปรเจ็คต์ ‘Media House’ ที่ดอคแลนดส์ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และอาคารใหม่ของ ‘New Fairfax’ แห่งนี้ก็จะถูกกอดรัดฟัดเหวี่ยงภายใต้หลังคาเพียงหนึ่งเดียว ที่มีการกลมกลืนภาพพิมพ์และแพลตฟอร์มดิจิตอลอยู่ภายใต้หลังคาผืนนั้น นอกจากการสร้างสภาวะแบบอัจฉริยะให้แก่พื้นที่การทำงานแล้ว งานดีไซน์ชิ้นนี้ยังหยิบจับเอาแนวทางใหม่ที่เลือกใช้โต๊ะข่าวแห่งอนาคต หรือ News Desk of the Future ที่อยู่ติดกับดิจิตอลสตูดิโอ เพื่อรองรับจับจ้องไปที่ยุคสมัยแห่งมัลติมีเดีย โดยงานนี้หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มันเป็นสวรรค์ของคนทำงาน ในการจัดวางผังแบบเปิด โล่ง โปร่ง มั่นใจได้เลยว่าทุกสเปซจะได้รับแสงธรรมชาติอย่างพอเพียงเลี้ยงกาย 

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

Life Ball MINI 2009

For Katy Perry

Photo courtesy of The Blonds / Text by Weerawouth Hransombat
อีกครั้งที่ MINIได้รวมพลกับทาง Life Ball เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ตรึกตรอง และหาทุนสำรองต่อสู้กับโรคร้ายอย่าง A I D S เอดส์ สำหรับใครที่ไม่รู้จัก Life Ball ก็จะขอย้อนความคร่าวๆ ว่า พวกเขาเป็นองค์ฝั่งยุโรปซึ่งทำงานด้านการกุศลในการรณรงค์ยับยังเอดส์ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 โดยการจัดงานในครั้งนี้จะมีการขายตั๋วเพื่อจับฉลากชิงรางวัล MINI Cooper Convertible ที่ดีไซน์เป็นพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ โดยได้ทีมดีไซเนอร์ที่รู้จักกันในนาม The Blonds พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อนักร้องสาว Katy Perry รู้จักกันดีในเพลง I Kissed a Girl อันสุดแสนเซ็กซี่กระชากใจหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ด้วยสุ้มเสียงกระเส่าเร้าใจ และการแต่งกายที่ดึงดูด ภายนอกของมินิถูกเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นสีชมพูลายจุดฉุดอารมณ์ ภายในก็ออกแบบให้สอดคล้องประสานกันไปประหนึ่งเครื่องแต่งกายคุณเธอ Perry ถ้าคุณอยากจับรางวัลนี้ก็ต้องซื้อตั๋วราคา 10 ยูโร แต่ว่าจะต้องบินไปที่ประเทศออสเตรียล่ะ เนื่องจากอีเว้นท์ดังกล่าวพร้อมให้แค่ใน BMW ดีลเลอร์ และ MINI ดีลเลอร์ ในออสเตรียเท่านั้น โดยอีเว้นท์ทั้งหมดของ Life Ball รวมไปถึงที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งทุกกระบวนการของ Life Ball นั้นล้วนสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อ HIV เรียกได้ว่าได้ทั้งบุญและรถงามๆ หากคุณโชคดีพอก็จะขอน้อง Perry มานั่งข้างๆ ได้ด้วย!!! 

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

Prada Transformer

A state of the art project space

Photo courtesy of  OMA/Rem Koolhaas  / Text by Weerawouth Hransombat
ชื่อเสียงของออฟฟิศสถาปนิกอย่าง ‘OMA’ เรียกได้ว่าเป็นแม่เหล็กอย่างดีในการดึงดูดผู้คนในแวดวงสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะเมื่อเฮดดีไซเนอร์อย่าง ‘Rem Koolhaas’ ออกโรงแล้วด้วย และยิ่งได้จับมือกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง พราด้า (Prada) ด้วยแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น? ซึ่งหากจะเปรียบเทียบเรื่องแบรนด์สักหน่อยก็คงต้องยกให้โปรเจ็คต์นี้ Chanel Mobile Art โดย Zaha Hadid กับแบรนด์ชาแนล (Chanel) และแน่นอนเมื่อพราดร้าลงสนามกับ Koolhaas โปรเจ็คต์นี้ย่อมไม่ธรรมดา เริ่มตั้งแต่ชื่อ ‘Prada Transformer’ พาวิลเลียนเล็กๆ ที่มีหลากหลายฟังก์ชั่นในตัวเอง เรียกได้ว่าเป็น พาวิลเลียนเปลี่ยนร่าง เลยก็ว่าได้ และท้ายที่สุดโปรเจ็คต์นี้จะไปวางอยู่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมืองที่กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการออกแบบในไม่ช้า

โดยทั่วไปพาวิลเลียนก็จะถูกออกแบบมาเพื่อกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่สำหรับโปรเจ็คต์นี้ ความน่าสนใจของ Prada Transformer อยู่ตรงที่การใช้งานซึ่งเกิดจากการพลิกไป-มาตามด้านต่างๆ โดยแต่ละด้านก็จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะกับสถาปัตยกรรม และแฟชั่นกับสถาปัตยกรรมอีกที ฟังดูอาจจะมองภาพไม่ออกว่าพาวิลเลียนขนาดใหญ่จะพลิกไปมาง่ายๆ ได้อย่างไร งานนี้ Koolhaas ได้ออกแบบให้ตัวพาวิลเลียนใช้โครงสร้างเหล็ก ปิดผิวด้วยวัสดุยืดหยุ่น ดังนั้นน้ำหนักโดยรวมของพาวิลเลียนจึงเบา นั่นสามารถใช้เครนขนาดใหญ่ 3 4 ตัวช่วยกันยก เพื่อพลิกให้พาวิลเลียนอยู่ในฟังก์ชั่นที่ต้องการ

ตัวพาวิลเลียนมี 4 ด้าน โดยด้านแรกจะเป็นรูปหกเหลี่ยม อีกด้านเป็นรูปกากบาท ส่วนอีกด้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก และอีกด้านจะเป็นวงกลม ด้านแต่ละด้านจะประกอบกันด้วยรูปฟอร์มดังกล่าว ซึ่งไม่มีการลดทอนฟอร์มของตัวเองเลยแม้แต่น้อย ฟอร์มของแต่ละด้านมาประกอบกันแบบหลวมๆ โดยปล่อยให้ช่องว่างที่เหลือเป็นหน้าที่ของ façade ผ้าใบสีขาวทำการปิดผิวไป โดย Koolhaas อธิบายฟังก์ชั่นของพาวิลเลียนในขณะที่ถือโมเดลอยู่ในมือ พร้อมกับพลิกไปมาเพื่อบอกกล่าว พาวิลเลียนหลังนี้มีถึง 4 กิจกรรมในหลังเดียว นั่นกลายมาเป็นชนวนให้เกิดคอนเซ็ปต์ของงานนี้ เขากล่าว  

เมื่อคว่ำรูปหกเหลี่ยมลง ฟังก์ชั่นก็จะเหมาะสำหรับการจัดนิทรรศการด้านแฟชั่น ส่วนด้านสี่เหลี่ยมมุมฉากก็เหมาะสำหรับการจัดสัมมนา โดยเพิ่มเติมในส่วนของที่นั่งเข้ามา สำหรับด้านวงกลมก็จะเหมาะสำหรับจัดกิจกรรมพิเศษๆ หรือแฟชั่นโชว์ และด้านที่เป็นกากบาทจะเหมาะสำหรับการจัดแสดงงานศิลปะ งานนี้นอกจาก Koolhaas แล้ว เขายังได้จับมือกับ Kunle Adeyemi และ Chris van Duijn และสถาปนิกนักออกแบบอย่าง Alexander Reichert อีกด้วย     

แม้งานนี้จะไม่เฟี้ยวฟ้าวอย่าง Chanel Mobile Art ของ Hadid แต่ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในเชิงผลลัพธ์ นี่อาจจะเกี่ยวกับภาพยนตร์ภาคต่อย่าง Transformer 2 ก็ได้ จากชื่อที่ทำให้เชื่อมโยงถึงกัน ตั้งแต่ตัวสถาปนิก แบรนด์ ไปจนถึงการเกาะกระแสของโลก ณ ปัจจุบัน ซึ่งภาพแรกเมื่อคุณได้ยินชื่อ Prada Transformer คุณอาจจะคิดถึงภาพยนต์ก่อนเสียด้วยซ้ำ นั่นชี้ให้เห็นอิทธิพลของสื่อต่างๆ ที่มีผลต่อการรับรู้งานสถาปัตยกรรม และงานนี้ก็เชื่อว่า เปิดการรับรู้ใหม่ๆ ให้แก่วงการสถาปัตยกรรมแบบที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนเลยทีเดียว

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

the jewel

designed for royalty

Photo courtesy of http://www.pooltableportfolio.com/ / Text by Weerawouth Hransombat
หนึ่งในกีฬาบิลเลียดแชมป์เปี้ยนชิพอันเก่าแก่ รู้จักกันดีในแวดวงนักสอยไม้คิว ‘World Professional Billiards Championship’ กีฬาบนผืนผ้าสักหลาดนี้เริ่มแข่งขันแบบแชมป์เปี้ยนชิพมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 นับเวลาก็ร่วม 30 ปีได้ กีฬาชนิดนี้เก่าแก่และขลังมีพลังอยู่ในตัว อีกทั้งยังเพิ่มกลิ่นอายสำหรับบุคคลในราชวงศ์อีกด้วย รับรองหรูหรา คลาสสิก สมกับชื่อ ‘The Jewel’ งานนี้ดีไซน์โดย World Billiards Champion ผลิตภัณฑ์ภายใต้การดูแลของ Pool Table Portfolio ผู้มีประสบการณ์ด้านอุปกรณ์การกีฬาสำหรับนักสอยคิวบนสักหลาด The Jewel เป็นการผสมผสานงานศิลป์เข้ากับดีไซน์ซึ่งจะกำหนดได้ตามความต้องการของคุณ ด้วยการประดับด้วยเพชรบนขอบโต๊ะผสมผสานไปกับทองคำ 18 กะรัต หรือทองคำขาว และด้านล่างโต๊ะบิลเลียดที่มีทั้งกราฟิกลวดลายสุดหรูๆ ทำด้วยทองคำและทองคำขาวเช่นกัน แถมส่องสว่างอย่างสวยงามด้วยไฟ LED เพิ่มเสน่ห์สร้างสีสันให้การละเล่นได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าทุกๆ สัดส่วนของโต๊ะบิลเลียดที่คุณเห็นนั้นสามารถปรับเปลี่ยนไปตามใจต้องการของคุณเองได้ ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ลวดลาย ไปจนถึงเพชรนิลจินดาที่นำมาประดับประดาให้เลิศหรูอลังการตาในแบบของคุณ         

VERTU

VERTU EXOTIC

Photo courtesy of http://www.vertu.com/ / Text by Weerawouth Hransombat
หากคุณขับ Bugatti หรือ Lamborghini แต่ไม่ใช้โทรศัพท์สุดหรูอย่าง VERTU เห็นท่าจะไม่เข้าขั้นครบองค์ประกอบความหรู เนื่องจากโทรศัพท์แบรนด์นี้ช่างสรรหาวัสดุคุณภาพระดับที่ใช้ในรถยนต์หรูมายั่วน้ำลาย เรียกได้ว่าหากมีเงินแต่เพียงอย่างเดียวก็อย่าหวัง เนื่องจาก VERTU ได้วางภาพลักษณ์ตัวเองไว้ในระดับบน เพื่อรักษาความ Luxury ของแบรนด์ไว้แบบไม่ให้ลดหย่อนผ่อนปรน ทิ้งความเป็น Nokia ไว้ให้ทำตลาดในอีกแนวทาง VERTU จึงสร้างแบรนด์ที่ต้องหรูและแพงที่สุดในโลกอย่างที่เห็น ตลาดแรกของพวกเขาก็เริ่มลุกคืบมาจากอังกฤษ ในช่วงปี ค.ศ. 2002 และช่วงต้นปีนี้ก็มีหลายคอลเล็กชั่นให้ตลาดมือถือได้ยลโฉมกันอีก อย่าง ‘Exotic Collection’ ดีไซน์ที่เหนือกว่า จากการใช้สกินที่ไม่ธรรมดา นอกจากการมองหาวัสดุคุณภาพแล้วสกินก็ยังเป็นอีกหนึ่งในดีไซน์ที่ VERTU มองหาเพื่อนำเข้ามาพลิกโฉมความเคยชิน และนี่ก็เป็นการพบกันของความมุ่งหวังอันสูงสุดในธีมอันผสมผสานระหว่างการดีไซน์และความรู้สึกนึกคิด โดยจะไม่ยินยอมให้เกิดการลดละเชิงสมรรถภาพของการใช้งาน สกินพิเศษที่ว่านั้นก็คือ หนังนกกระจอกเทศ หนังงู Karung และหนังจรเข้ ซึ่งสกินต่างๆ นานนั้นทาง VERTU มีกระบวนการที่ยั่งยืนในการใช้งานและการฟอกหนังแบบพิเศษโดยเฉพาะ องค์ประกอบทั้งหมดผสมกลมกลืนกับแฮนด์เซ็ตซึ่งถือเป็นสุดยอดและพิเศษเพื่อรสนิยมอันไม่อาจจะซื้อด้วยเงินได้แต่เพียงอย่างเดียว

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

FREITAG Limited Art Edition 2009

The Contemporary Art of Art Recycling: Normally we cut up trucks. For this collection we cut up art.

Photographs by www.freitag.ch / Text by Weerawouth Hransombat
กระเป๋านักเดินทางที่มีหนึ่งเดียวในโลก! ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1993 สองพี่น้องกราฟิกดีไซเนอร์ Markus และ Daniel Freitag ได้สาดส่องสายตามองหากระเป๋าสำหรับนักเดินทาง ซึ่งชาวเมืองซูริกนั้นขึ้นชื่อด้านการเดินทางโดยจักรยาน และจักรยานก็ถูกเรียกว่า ‘velo’ แต่การเดินทางเช่นนี้เมื่อฝนตกเราก็เปียก! ดังนั้นสองพี่น้อง Freitag จึงต้องการอะไรที่มันทรหดอดทน ใช้งานได้จริง กันน้ำได้ และมีดีไซน์ จนแรงบันดาลใจของพวกเขาระเบิดฉากจากเสียงกระหึ่มอย่างคึกคักของรถบรรทุกหลากสีที่วิ่งไปตามซูริกไฮเวย์ แค่ชั่วครู่ที่พวกเขาเผชิญหน้ากับมัน ภาพในหัวของสองพี่น้องก็ปะติดปะต่อกันเป็นกระเป๋าเดินทางอย่างเป็นรูปเป็นร่าง พวกเขาตัดผ้าใบกันน้ำของรถบรรทุกแล้วนำมาเย็บปักเป็นกระเป๋าเดินทาง บวกกับเข็มขัดนิรภัยในรถมือสอง ถุงลมกันกระแทก และยางในจักรยานที่เอามาทำเป็นขอบกระเป๋า! นั่นกลายเป็นแบรนด์ FREITAG ในที่สุด

ล่าสุดกับคอลเล็กชั่นใหม่ที่จะฉีกโฉมหน้าเดิมๆ ของแบรนด์ FREITAG ออกไปจากเดิมที่เคยใช้แต่ผ้าใบจากรถบรรทุก แต่ครั้งนี้พวกเขาใช้ศิลปะสร้างศิลปะ!’ ในชื่อ ‘FREITAG Limited Art Edition 2009 โดยแผ่นโปสเตอร์โฆษณาในพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยระดับโลกกำลังจะกลายมาเป็นกระเป๋าหิ้ว FREITAG โปสเตอร์เหล่านั้นจะถูกนำมาจากทั่วโลก ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็จะมีมาจากพิพิธภัณฑ์ TATE Modern กรุงลอนดอน, MORI ART Museum กรุงโตเกียว, PALAZZO GRASSI กรุงเวนิส และ MoCA ลอส แองเจลิส ด้วยดีไซน์และแรงบันดาลใจของกระเป๋าใส่ข้าวของที่ไม่ธรรมดา เรียกได้ว่ามีใบเดียวในโลกจริงๆ !      

PFD Spyder Tables

Limited Edition Carbon Fiber Furniture
Photo courtesy of http://www.phil-frank.com/ / Text by Weerawouth Hransombat
ดีไซเนอร์ต้องทำอะไรให้เว่อร์เข้าไว้ นั่นไม่ใช่สโลแกนหรือคอนเซ็ปต์แต่อย่างใด แต่เท่าที่เราได้สัมผัสกันมาถ้าไม่เวอร์ก็ไม่ต้องใช้ดีไซเนอร์ให้เหนื่อยและแพง และสำหรับ Phil Frank ความเวอร์ของเขามีที่มาที่ไป กับชายผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า เขาคือมือรางวัลระดับแนวหน้า โดย Frank เป็นที่รู้จักกันดีกับการออกแบบ Saleen S7 รถยนต์ Supercar สุดหรูสัญชาติอเมริกันชน เรียกว่าเวอร์ได้ใจไก่ วรายุทธ ในครั้งนี้ก็เขาก็ขอภูมิใจเสนอคาร์บอนไฟเบอร์ เฟอร์นิเจอร์แบบลิมิเต็ดอิดิชั่นกับ PFD Spyder Tables ด้วยแรงบันดาลใจที่มีต้นกำเนิดมาจากการที่เขาได้คลุกคลีตีโมงอยู่กับการออกแบบ Supercar ร่วม 15 ปีได้ Frank ใส่ใจในรายละเอียดและวัสดุเพื่อผลักดันให้ซุปเปอร์คาร์ที่เขาออกแบบเป็นอะไรมากกว่าแค่รถยนต์ เขาแปลความหมายของวัตถุสู่ความปราถนา และเมื่อได้เวลาออกแบบเฟอร์นิเจอร์เขาก็ต้องควบรวมสิ่งละอันพันละน้อยระหว่างความเป็นเฟอร์นิเจอร์ ประดิษฐกรรมยานยนต์ และศาสตร์แห่งวัสดุให้เห็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน Frank เชื่อว่าความลึกซึ้งและความสวยงามของคาร์บอนไฟเบอร์เมื่อขึ้นรูปฟอร์มเป็นยานยนต์ก็จะสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจกับกับผู้ได้ยลโฉม และเมื่อมันถูกนำมาใช้กับเฟอร์นิเจอร์กระจกใสครึ่งนิ้วอันสวยงามและมีราคานั่นยิ่งจะทำให้น่าตื่นตาไปอีกแบบ ด้วยสไตล์และการดีไซน์ที่ไม่มีเวลามาขีดกั้น งานของเขาจึงสามารถนำไปประกบกับทุกสไตล์และทุกยุคสมัย เหมาะเหม็งกับบ้าน หรือสำนักงาน ไปจนถึงโรงรถสุดหรูของคุณเลยทีเดียว

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

4 Senses Lounger

The Ultimate Relaxing Space

Photo courtesy of www.thermariumspa.com / Text by Weerawouth Hransombat
เปิดหู เปิดตา เปิดสัมผัส เปิดใจ กับดีไซน์ที่ออกแบบมาเพื่อความผ่อนคลาย จาก ‘Thermarium Spa by Schletterer’ เจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อสปาที่ยืนยงมากว่า 20 ปี ครั้งนี้ได้เผยโฉมที่สุดของเก้าอี้เลาจน์ที่คุณจะต้องใช้สัมผัสทั้ง 4 ในการรับรู้ ‘4 Senses Lounger’ เริ่มด้วยรูปทรงองค์เอวของดีไซน์ที่สร้างสรรค์เพื่อสัมผัสทางตาด้วยการมองเห็น สุ้มเสียงที่เก้าอี้ร่ำร้อง กลิ่นอายที่เรียกหา และความรู้สึกพิสมัยอันน่าหลงใหล พรรณนานี่ไม่รวมนางแบบที่นอนทอดกายลงบนเลาจน์แต่อย่างใด แค่เฉพาะตัวเลาจน์ล้วนๆ เท่านั้นที่จะถ่ายโอนจิตวิญญาณรวมถึงกายใจของคุณลงไปประหนึ่งโอเอซิสขนาดย่อมเพื่อการมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นชื่อที่บอกทั้งความหมายและความหลากหลายไปในตัว ดีไซน์เหล่านี้ก็เพื่อการรองรับการใส่ใจสุขภาพของผู้คนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย ประหนึ่งเครื่องมือแห่งการบำบัดและงานดีไซน์อันน่าฉงนสนใจ จากกระบวนการพัฒนาเชิงดีไซน์ที่มาพร้อมๆ กับประสาทสัมผัสทั้ง 4 ด้วยเส้นสายโค้งเพรียวเรียวดั่งเปลือกหอยที่คอยปกป้องสภาวะอันน่าพึงใจให้คุณ หรือไม่ก็เหมือนเรือนกำบังของรังไหม กระตุ้นหนุนอารมณ์ของคุณอย่างหลากหลายสัมผัส ส่งให้กายใจเดินทางสู่การพักผ่อนในระดับลึก ผสมผสานการเลือกใช้วัสดุที่มีพื้นผิวเรียบหรูคละเคล้ากลิ่นหอมในการบำบัด พื้นฟูจิตใจด้วยระบบคลื่นเสียงอันแสนผ่อนคลายสบายจิต และการนวดที่ละมุนละไมสร้างแรงบันดาลใจและความสมดุล ราวกับเป็นอุปกรณ์ชาร์ตแบตเตอร์รี่ให้หัวใจคุณ โอ้! ขอด่วนหนึ่งตัว

PROJECT M

Stile Bertone Mantide: ULTRA STYLISH and HIGH PERFORMANCE

Photo courtesy of  www.insideprojectm.com / Text by Weerawouth Hransombat
ไม่มากไม่มายที่จะมีรถยนต์คันใดทำให้ Bugatti Veyron กลายเป็นสามัญชน แต่เจ้า Bertone Mantide มันคือหนึ่งในนั้น ภายใต้เรือนร่างของรถสปอร์ตสุดหรู Mantide และบริษัทที่อยู่เบื้องหลังความหรูหรานั่น นี่จะทำให้มันกลายเป็นซุปเปอร์คาในสนนราคาที่ไม่ไกลเกินฝัน แต่ฝันของคุณอาจจะค่อยๆ เจือจางห่างหายไปอีกครั้งเมื่อเจ้า Mantide จะถูกผลิตขึ้นมาเพียงไม่เกิน 10 คันเท่านั้น ในราคาที่ถูกกว่าที่เคยเป็นและจำนวนที่น้อยเกินไป ใครล่ะจะได้เป็นเจ้าของบ้าง ก็อย่างว่า ของดีมีน้อย และในของน้อยก็ต้องมีดีเป็นธรรมดา  

ด้วยสัดส่วนระหว่าง Chevrolet Corvette ZR1 และสไตล์อิตาเลียนที่ถูกปรุงแต่งจากมันสมองของอิตาเลียนดีไซน์ไดเร็กเตอร์นาม Jason Castriota เขาจะทำให้สปอร์ตคาร์คันนี้พุ่งทะยานองอาจบาดตาใครต่อใคร และราคาที่ว่าแสนถูกนั่นก็คือ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเจ้าของที่จะได้รับรถประสิทธิภาพอันแสนอัจฉริยะ ด้วยอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ภายใน 3.2 วินาที โดยมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 351 กม./ชม. ผสมผสานด้วยความสะดวกสบายแห่งวันอันสวยงามดุจแล่นเรือท่องเที่ยวก็ไม่ปาน

Castriota ดีไซน์ไดเร็กเตอร์และมันสมองของรถคันนี้เคยช่วยในการสร้างสรรค์ Ferrari 599 GTB และ Maserati Gran Turismo ในช่วงที่ทำงานใน Pininfarina และเขาก็มีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับเจ้า Ferrari P4/5 และ Maserati Birdcage 75th เรียกได้ว่าคงไม่มีรถเด็กเล่นคันใดจะมาแต่งกายเป็นรถสปอร์ตหรูได้ แต่เจ้า Mantide จะเป็นได้มากกว่านั้น โดยบริษัทผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง STILE BERTONE ซึ่งมีประวัติโชกโชนในวงการนี้ พวกเขาเคยสร้างรถต้นแบบไม่ว่าจะเป็นรถคลาสสิคอย่าง Lancia Stratos และ Lamborghini Countach ในช่วงปี ค.ศ. 1980

ล่าสุดในการสร้าง Mantide พวกเขาก็ได้นำพื้นฐานมาจาก Chevrolet Corvette ZR1 โดยใช้เครื่อง V8 ซุปเปอร์ชาร์จ  638 แรงม้า และตัวรถทั้งหมดก็ทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์อันจะช่วยลดน้ำหนักลงมาได้อีก 100 กิโลกรัม จากตัว ZR1 ที่มีน้ำหนักเบาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ด้วยรูปลักษณ์ปราดเปรียวที่ดึงดูดความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประตูรถสปอร์ตแบบปีกนกอันสวยงามที่ใช้โพลีคาร์บอเนตเรียบเนียนทั้งประตูและหน้าต่าง นั่นหมายความว่า เมื่อปิดเพียงครึ่งด้านบนของ Mantide ก็จะทำให้ดูเหมือนหลังคาของเครื่องบินเจ็ทสำหรับสู้รบก็ไม่ปาน เช่นเดียวกันที่ช่องระบายอากาศด้านหน้า ซึ่งประหนึ่งเครื่องบิน F-18 Hornet ทั้งหรูทั้งแรงและราคาที่ไม่แพงเท่ารถซุปเปอร์คาร์ทั่วๆ ไป นี่จึงทำให้ Mantide ถูกกล่าวขานในวงการยนตกรรม       

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

St Andrews Links

The Home of Golf
Text by Weerawouth Hransombat
หากพูดถึงกีฬากอล์ฟ นอกจากเรื่องของ ไทเกอร์ วู้ดส์ แล้ว สนามกอล์ฟในตำนานที่ใครๆ ต่างก็พูดถึงคงหนีไม่พ้น สนามเซนต์ แอนดรูว์ส’ (St Andrews Links) สนามอันเก่าแก่ของโลก และของประเทศสกอตแลนด์ ถึงแม้ต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้จะไม่มีหลักฐานเฉพาะเจาะจงลงไป แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าสกอตแลนด์ไม่ใช่ บ้านของกีฬากอล์ฟ เนื่องจากกีฬากอล์ฟมีการละเล่นมาอย่างยาวนานบนผืนแผ่นดินสหราชอาณาจักร และแน่นอนว่าที่แห่งนี้ย่อมมีสนามกอล์ฟอันเก่าแก่และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมด้วย

เริ่มตั้งแต่ปี 1457 ที่กีฬากอล์ฟถูกห้ามเล่นตามพระราชบัญญัติรัฐสภาสกอตแลนด์ จนกระทั่งปี 1502 กษัตริย์ เจมส์ที่ 4 ก็ได้ซื้อสโมสรกอล์ฟแห่งแรกเป็นของพระองค์เอง จนถึงปี 1552 หัวหน้าบาทหลวง John Hamilton ก็ได้รับอำนาจโดยเทศบาลเมือง ในการสถาปนาชุมชนขึ้นบริเวณสนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นกฎบัตรยืนยันความถูกต้องของชาวเมืองในการเล่นกีฬากอล์ฟบนสนาม มาถึงปี 1754 สังคมของผู้เล่นกีฬากอล์ฟแห่งเซนต์ แอนดรูว์สก็ถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้น และกฎกติกาการเล่นกอล์ฟก็ถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรก นับเป็นแบบอย่างของกฎกติกาการเล่นกอล์ฟมาจนถึงทุกวันนี้โดยสโมสร ‘The Royal and Ancient Golf Club’ และอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือปี 1764 ที่สนามเซนต์ แอนดรูว์สถูกปรับเป็นสนามมาตรฐาน 18 หลุม จากเดิม 22 หลุม

ณ สนามเซนต์ แอนดรูว์สเป็นที่รู้ดีว่ามีการจัดการแข่งขันมานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะโอเพ่น แชมเปี้ยนชิพที่ถูกเล่นครั้งแรกในเซนต์ แอนดรูว์สที่สนาม Old Course เมื่อปี 1873 (ก่อนนั้นจัดที่สนามเพรสต์วิค ในปี 1860) ซึ่ง Tom Kidd ก็คว้าแชมป์ในครั้งนั้นมาได้ และแชมป์เปี้ยนชิพครั้งที่ 26-27 ในปี 2000 และ 2005 เจ้าเสือไทเกอร์ วู้ดก็คว้าแชมป์มาครอง เรียกได้ว่าสนามเซนต์ แอนดรูว์สแห่งนี้ได้มีการจัดการแข่งขันแชมเปี้ยนชิพมากว่าทุกๆ สนาม ถ้าคุณเป็นนักกอล์ฟที่อยากให้อยากให้ผู้คนจดจำ คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชนะสนามนี้ Jack Nicklaus แชมป์ปี 1970, 1978 กล่าว  

ล่าสุดกับการแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์รายการเก่าแก่ทัวร์นาเมนต์ บริติช โอเพ่น ในปี 2010 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 28 ของทัวร์นาเม้นต์สุดยิ่งใหญ่ของสนามเซนต์ แอนดรูว์ส อีกทั้งยังเป็นการฉลองครบ 150 ปีของกอล์ฟเมเจอร์รายการนี้ด้วย ในการชนะที่สนามเซนต์ แอนดรูว์สมันสุดยอดมากๆ ไทเกอร์ วู้ด แชมป์ปี 2000, 2005 ไทเกอร์ วู้ด กล่าว  

ความฝันของนักกอล์ฟทุกคนอยากจะมาเยือนสนามแห่งนี้ โดยปัจจุบันที่สนามเซนต์ แอนดรูว์สก็มีสนามแข่งที่เปิดสู่สาธารณชนถึง 7 สนาม เริ่มด้วย Old Course, New Course, Jubilee Course, Eden Course, Strathtyrum Course, Balgove Course และ The Castle Course โดยทั่วไปสนามเซนต์ แอนดรูว์สเปรียบเสมือนศูนย์กลางสำหรับนักเล่นกอล์ฟ เช่นเดียวกันกับการอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นและศูนย์สุขภาพที่แวดล้อมสนามแห่งนี้      

นอกจากนั้นที่สนามเซนต์ แอนดรูว์สยังเป็นสนามสำหรับจัดการแข่งขัน Alfred Dunhill Links Championship ซึ่งมีเงินรางวัลสูงสุดในยุโรป ไปจนถึงการแข่งขันสโตรค เพลย์รายการ Links Trophy รายการสำหรับมือสมัครเล่นอันดับต้นๆ ของยุโรป แต่ยังไม่มีรายการแข่งขันและสโมสรสำหรับรุ่นจูเนียร์ และสนามแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ตลอดปีที่สนาม พร้อมด้วยที่ Eden Clubhouses ซึ่งเปิดให้สาธารณชนเข้ามาใช้บริการ และไม่ว่าคุณจะเล่นกอล์ฟหรือไม่หากได้มาเยือนที่เซนต์ แอนดรูว์สแห่งนี้ เชื่อว่า คุณจะหลงเสน่ห์ของกรีนสุดลูกหูลูกตาโดยไม่รู้ตัว  

วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

FISKER AUTOMOTIVE DEFINES ECO-CHIC

THROUGH HENRIK FISKER’S TIMELESS DESIGN DNA

Photographs by www.fiskerautomotive.comText by Weerawouth Hransombat

Fisker Automotive เป็นบริษัทยานยนต์ส่วนบุคคลสัญชาติอเมริกันที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2007 บริษัทตั้งอยู่แถบๆ ตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ยานยนต์ของ Fisker Automotive ประหนึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ BMW, Ford และ Porsche โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Henrik Fisker ดีไซเนอร์และผู้อำนวยการออกแบบ Aston Martin "นี่จะนำอนาคตและกำหนดรูปแบบยานยนต์โดยการสร้างรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำกล่าวของ Fisker แต่แรกเริ่ม Fisker Automotive ก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่เสียทั้งหมดกับยานยนต์ ความจริงแล้วมันเป็นการนำชื่อเดิมมาปรับเปลี่ยนฐานการผลิต จากรถยนต์ราคาสูงเข้าสู่ความเป็นยานยนต์หรูประกอบมือ อย่างที่เคยเตรียมๆ ไว้อย่าง Fisker Tramonto ที่มีพื้นฐานมาจาก  Mercedes-Benz SL-Class หรือ Fisker Latigo Cs ที่มีพื้นฐานมาจาก BMW 6 Series และในขณะนี้ทาง Fisker Automotive ก็จะได้ฤกษ์ที่จะเผยโฉมยานยนต์ลำแรก 2010 Fisker Kama

ด้วยแรงบันดาลใจของ Fisker Automotive อันเกิดจากการสร้างเครื่องยนต์กลไกที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการที่จะมุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานพร้อมด้วยความเป็นรถยนต์สปอร์ตสุดหรูเช่นที่เคยเป็นมา โดยโฉมของ Fisker Karma ณ งาน 2009 North American International Auto Show ที่บริษัท Fisker Automotive ได้ทำการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ของรถยนต์ที่คาดหวังว่าจะเป็นต้นแบบในการนำอนาคตของยนตกรรม เรือนร่างของ 2010 Fisker Karma จึงเป็นอีกบทพิสูจน์ของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องถอดคราบความมีสไตล์และดีไซน์อันหรูหราออก     

ดีไซเนอร์ยานยนต์ที่ทั่วโลกต่างรู้จัก Fisker เขาได้เปลี่ยนโฉมหน้าด้วยภาษาใหม่ของ Fisker Karma ที่จะลื่นไหลต่อเนื่องดุจดังประติมากรรม พร้อมด้วยสัดส่วนอันเร้าอารมณ์ จากความยาวของช่วงล้อ ความกว้างและศูนย์ถ่วงที่อยู่ในระดับโหลดเตี้ย โครงสร้างและเรือนร่างของ Fisker Karma สร้างให้เกิดการใช้งานที่กว้างขวางด้วยอลูมิเนียมน้ำหนักเบาและวัสดุประกอบที่ทำให้เกิดการรักษาน้ำสภาวะหนักเบาทั้งหมดของเรือนร่างยานยนต์ พร้อมด้วยเทคโนโลยี Q-DRIVE® บนตัวรถที่โหลดเตี้ยซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อน และรูปร่างภายนอก อีกทั้งสเปซเฟรมที่บรรจงสร้างสรรค์ไว้สำหรับการกระจายน้ำหนักที่ดีที่สุด ความสปอร์ตของยนตกรรม Fisker Karma จึงถือเป็นท่วงท่าที่เตรียมพร้อมสำหรับทัศนะวิสัยอันพิเศษสุดภายในห้องโดยสาร และดีไซน์ที่ข้ามพรมแดนซึ่งไม่เคยมีมาก่อน  

Fisker Karma ได้รับการพัฒนาโดยใช้กระบวนการดั้งเดิมในการทำให้ภาพร่างแบบยานยนต์กลายเป็นโมเดล เครื่องมือดิจิตอลอย่าง Modern CAD จึงถูกนำมาใช้งาน สำหรับงานที่ต้องการความมีประสิทธิภาพระดับสูงและการพัฒนาอันรวดเร็วฉับไว ดีไซน์เรียบๆ ของ Karma เน้นหนักไปที่ตัวกระโปรงรถที่ยาว นั่นเป็นผลลัพธ์โดยตรงจากตำแหน่งของเส้นผ่านศูนย์กลางที่ทะลุทะลวงไปยังดีไซน์ใหม่ของแชสซี ซึ่งมาพร้อมกับการพัฒนาแหล่งกำเนิดขุมพลัง Q-DRIVE® นั่นเป็นดีไซน์อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการบรรจุแบตเตอร์รี่ลิเทียม-ไอออนไปตามแกนกลางของเครื่องยนต์ระหว่างเพลาทั้งสอง สำหรับสร้างให้เกิดระบบขับเคลื่อนที่ดีที่สุด ในความปลอดภัยสูงสุด และดีไซน์อันลงตัวที่สุด  

THE EYE OF THE STORM

That looks like the most beautiful ships and plays with the shadows of the linen seams which projects itself at the surface.

Text by Weerawouth Hransombat
วิสัยทัศน์พัฒนาเมืองของชาวเกาหลีกำเนิดเกิดจากการผสมผสานเรื่องราวของผู้คนเข้ากับเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สร้างความกลมกลืนบนความแตกต่าง หลากขนบวัฒนธรรม เพื่อทำให้โลกทั้งใบจะต้องจับจ้องมองมาเป็นตาเดียว ณ กรุงโซล และเพื่อเน้นย้ำความเป็น ‘World Design Capital (WDC) 2010 เมืองหลวงที่ถูกขับเคลื่อนด้วยดีไซน์บนการไหลบ่าของวัฒนธรรมแห่งแม่น้ำฮัน(Han River) กรุงโซลจึงเป็นเมืองที่สับเปลี่ยนเวียนว่ายด้วยงานออกแบบซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง หลากหลายองค์ประกอบถูกประกบเพื่อขับให้ดีไซน์กลายเป็นวัฒนธรรมของผู้คนแดนโสม ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่รอช้าที่จะผลักดันผู้คนด้วยงานดีไซน์

จากการผุดโครงการประกวดไอเดียต่างๆ มากมายเพื่อขับเคลื่อนผู้คน และสิ่งหนึ่งที่สามารถขัดเกลาขนบได้เป็นอย่างดีเลิศนั่นก็คือ ศิลปะ จึงทำให้การประกวดออกแบบศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งใหม่ได้กำเนิดเกิดขึ้น ในนาม ‘New Performing Arts Center’ บนเกาะ ‘Nodeul Island’ เกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำฮัน จนเป็นที่มาของไอเดียมากมายก่ายกองจากสถาปนิกทั่วโลกที่หลั่งไหลถ่ายเทแรงกันเข้ามา หลายผลงานมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป และความน่าสนใจหนึ่งในนั้นกับ ‘THE EYE OF THE STORM’ จากสำนักงานสถาปนิกฝรั่งเศส ‘Vincent Callebaut Architectures’ เรียกได้ว่าเป็นนัยต์ตาแห่งพายุที่จะโหมกระหน่ำกลางแม่น้ำฮันเลยทีเดียว             

ตำแหน่งที่ตั้งของเกาะ Nodeul Island กลางแม่น้ำฮันประหนึ่งเส้นเลือดใหญ่ของคนเกาหลี วัฒนธรรมต่างๆ ถูกรื้อพื้นขึ้นมาริมแม่น้ำสายนี้ และที่โดดเด่นเป็นสง่ากว่าใครๆ นั่นก็คือพื้นที่กลางเกาะเล็กๆ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงแผ่นดินระหว่างเหนือและใต้เข้าด้วยกันบนสะพานอันเก่าแก่ ‘Hangang Bridge’ ไม่ว่ารถยนต์ รถไฟ ไปจนถึงคนเดินเท้าต่างก็คุ้นเคยกันดี จากการขยายออกของพื้นที่ในทิศตะวันออกและตก จึงทำให้เกิดจุดตัดแบ่งพื้นที่เกาะออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน และสร้างให้เกิดฟอร์มของอาคารที่เป็นรูปวงรีซ้อนกันอยู่ และคล้ายๆ กับการขึ้นของรูปฟอร์มของพายุที่กำลังหมุนวน

ด้วยความที่มันดูเหมือนนัยต์ตาที่คอยจับจ้องจู่โจมจึงถูกขนานนามว่านัยต์ตาแห่งพายุ แต่สำหรับอาคารหลังนี้ รูปฟอร์มที่เกิดขึ้นก็จะสะท้อนภาพของแสงสีอันอบอุ่นจากรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นอาทิตย์ยามเย็น ฟ้าสีครามยามค่ำ หรือผิวน้ำยามกระเพื่อมเป็นเกลียวระรอก ประหนึ่งพิวอาคารได้จับรูปทรงของสายลมเอาไว้ บางส่วนของอาคารจมไปในน้ำซึ่งเป็นพื้นที่เพิ่มเติมที่ขยายออกเพื่อจัดแสดงโชว์ แสง สี เสียง รอบๆ เกาะกลางน้ำ ที่นี่กำลังจะเปลี่ยนการรับรู้ของผู้เดินทางข้ามแม่น้ำฮัน สร้างให้เกิดจินตนาการดังนัยต์ตาแห่งพายุที่รุนแรงและรวดเร็ว โดยมีโรงละครที่อยู่ภายในอาคารบนส่วนของปลายวงรีทั้งสองข้าง จุผู้ชมได้ 1,500 คนในแต่ละโรง โดยเชื่อมโยงกันด้วยห้องเวิร์คช้อป ห้องแต่งตัว ห้องน้ำ ออฟฟิศ และส่วนเทคนิคต่างๆ

ความพิเศษอีกหนึ่งก็คือ พื้นผิวของอาคารที่ต้องเป็นสีขาวเพื่อจะได้สะท้อนแสงออกมาภายนอกให้ได้มากที่สุด ราวกับลำเรือที่ล้อเล่นกับแสงไฟส่องประกายสีส้มประหนึ่งนัยต์ตาพายุอันร้อนแรง! โครงการนี้จัดประกวดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 แต่ทว่าไอเดียนี้ดูยังไงก็ไม่เคยล้าหลัง และนี่ก็คือสิ่งที่กำลังขับดันชุมชนแดนโสมให้รุดล้ำก้าวหน้าไปด้วยงานดีไซน์ที่เปิดกว้างและสะพรั่งออกมาจากใจ ดังวลีทิ้งท้ายโปรโมท WDC Seoul 2010 ที่ว่า “It takes HEART” นั่นเอง!     

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

Tokujin Yoshioka

New Design Trends

Text by Weerawouth Hransombat
ศิลปะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกจับจ้องมองมาทางฟากฝั่งเอเชียอย่างชื่นชม ขณะเดียวกันที่เราเองก็จับจ้องมองนวัตกรรมฝั่งตะวันตกอย่างฉงนสนเท่ห์ไม่แพ้กัน ไม่บ่อยนักที่ดีไซเนอร์เอเชียจะได้รับเสียงเชียร์จากชาวตะวันตก และไม่บ่อยนักที่เบรนด์ชื่อดังไม่ว่าจะเป็น Moroso, Vitra, NTT-X, Nissan, BMW, Shiseido, Hermes, Muji, Peugeot ไปจนถึง Swarovski แบรนด์เหล่านี้ต่างก็เคยจ่ายค่าจ้างให้ดีไซเนอร์เอเชียคนนี้ ไม่ใกล้ไม่ไกลประเทศไทยกับดีไซเนอร์ญี่ปุ่นนาม โตคูจิน โยชิโอกะ(Tokujin Yoshioka) หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี ดีกรีลูกศิษย์ ชิโร คุรามะตะ (Shiro Kuramata) ดีไซเนอร์ชื่อดังฝั่งญี่ปุ่น และ อีสเซ่ มิยาเกะ (Issey Miyake) แฟชั่นดีไซเนอร์และแบรนด์ดังฝั่งเอเชีย ด้วยความที่เขามองหาวัสดุใหม่ๆ อยู่เสมอในงานดีไซน์ จึงทำให้ผลงานเป็นที่น่าสนใจและสดใหม่อยู่เสมอ     

โตคูจินเป็นฟรีแลนซ์อยู่ราว 8 ปีจึงเปิดสตูดิโอเพื่อโชว์ศักยภาพของของเขาอย่างเต็มที่ในปี ค.ศ. 2000 ณ กรุงโตเกียว แต่เขาก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยแบรนด์อีสเซ่ มิยาเกะที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 20 ปีเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีอยู่ไม่ห่าง โดยโตคูจินทำงานเป็นส่วนหนึ่งของวงการแฟชั่นดีไซน์ เขาออกแบบข้าวของให้กับแบรนด์อีสเซ่ มิยาเกะและ ร้าน A-POC ไปจนถึงการผลิตชิ้นงานสำหรับติดตั้งที่ขนานนามว่า Issey Miyake Making Things ให้กับมูลนิธิคาร์เทียร์ (Cartier) ในกรุงปารีส จนทำให้เขาได้รับรางวัลอยู่เนืองๆ และผลงานของเขาก็ได้รับความสนใจจนถูกนำไปจัดแสดงเป็นคอลเล็กชั่นอย่างถาวร ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีศักดิ์มีศรีคับโลกอย่าง Museum of Modern Art ในกรุงนิวยอร์ก, Centre Pompidou ณ กรุงปารีส, Vitra Design Museum ในกรุงเบอร์ลิน และ Victoria & Albert Museum ในกรุงลอนดอน

รางวัลเด่นๆ สำหรับเขาก็จะเป็น Designer of The Year 2007 จัดโดย The Design Miami (ในบ้านเราก็มีรางวัลนี้เช่นกัน แต่จัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร) และ Best Furniture Designer จัดโดย Wallpaper* Design Award 2008 เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ชาวเอเชียที่เขย่าเหล่าดีไซเนอร์ฝั่งตะวันตกได้แรงทีเดียว เนื่องจากสิ่งที่โตคูจินจับจ้องอยู่นั้นสร้างให้เกิดกระแสเทรนด์ใหม่ๆ สำหรับการออกแบบโปรดัคต์ดีไซน์ซึ่งมองหาวัสดุที่แปลกและแตกต่าง เขาใช้วัสดุที่คุณไม่คาดคิดว่าจะกลายมาเป็นโปรดัคต์หลายๆ ชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ผ้า ฟองน้ำ ใยสังเคราะห์ กระดาษแก้ว ฯลฯ นั่นทำให้งานของเขาแปลกและแตกต่าง

I’m always working. When I’m eating, driving, when I go to bed... even when I sleep. Tokujin Yoshioka

ตั้งแต่หกขวบโตคูจินก็รู้ตัวเองแล้วว่าอาชีพในฝันของเขาคือดีไซเนอร์ เขาชอบที่จะตื่นขึ้นมาในตอนเช้าตรู่แล้วก็หยุดอยู่คนเดียวพร้อมๆ กับคิดฟุ้งมากมาย เขาคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของช่วงวัน ด้วยความที่เป็นดีไซเนอร์มืออาชีพดังนั้นเขาจึงทำงานในทุกท่วงท่าของจังหวะของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นตอนกินข้าว ขับรถ ตอนเข้านอน หรือกระทั่งขณะหลับก็ตามที ในหัวของหนุ่มใหญ่ไฟแรงผู้นี้ครุ่นคิดอยู่ตลอด ด้วยความต้องการที่จะสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนในวิถีทางอย่างง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนนัก นั่นเป็นเหตุผลให้เขาเลือกหรือไม่เลือกวัสดุต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในงานออกแบบ จะด้วยความน่าสนใจของวัสดุเองก็ตาม หรือไม่ก็ความแปลกใหม่ของวัสดุที่เป็นแรงดึงดูด นั่นทำให้โตคูจินศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องในการทำอย่างไรที่จะทำให้วัสดุเป็นมากกว่าแค่น่าสนใจ รวมไปถึงสีสัน ความหนาแน่น และบริบทรอบๆ ชิ้นงานดีไซน์ของเขา  

งานโปรดัคต์ดีไซน์ซีรีย์ของโตคูจินรู้จักกันในนาม ‘Tokyo-Pop’ ที่มีพื้นฐานมาจากงานดีไซน์ 'Honey-Pop' นำเสนอต่อสายตาชาวโลกโดย Driade และนอกจากงานโปรดัคต์แล้วเขายังดีไซน์ไปจนถึงสตรีทเฟอร์นิเจอร์ในโครงการพัฒนาเมือง Roppongi Hills ประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2003 ซึ่งรวบรวม 11 ดีไซเนอร์มาประชันสมองกันแบบขยักต่อขยักเลยทีเดียว ครั้งนั้นโตคูจินได้ออกแบบเก้าอี้ที่จะหายไปท่ามกลางสายฝนกระหน่ำนามว่า 'chair that disappears in rainy days' ด้วยความโปร่งใสที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนเดินถนนไม่น้อย

และที่สร้างความสะเทือนเลื่อนลั่นได้ไม่น้อยก็คือ เมื่อครั้งที่เขาได้ออกแบบร้านรวงแห่งใหม่ให้แก่ Swarovski บนย่านกินซ่า ในกรุงโตเกียว เมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งสิ่งแรกที่บรรเจิดความอลังการงานสร้างก็คือ façade แท่งสแตนเลสด้านหน้าทางเข้าประหนึ่ง Crystal Forestที่ต่อเนื่องไปจนถึงภายในร้านได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน ล่าสุดโตคูจินมีแผนการว่าจะเดินทางมาเยือนเมืองไทยในเร็วๆ นี้ เพื่อใช้แรงบันดาลใจจากไทยแลนด์สร้างสรรค์งานดีไซน์อันเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของเขาในอีกบริบท ถึงวันนั้นเราก็คงจะได้เห็นดีไซน์ไอเดียที่มาจากความเป็นไทย จะแปลกและแตกต่างประการใดจากความเป็นญี่ปุ่นก็ต้องลุ้นกันต่อไป